
แกนนำ หัวหน้าพรรค ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 8 พรรค
ก่อนการยุบสภาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เครือมติชน จัดชุมนุมนักการเมืองระดับผู้ท้าชิงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 8 พรรค ที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประกาศสัญญาประชาคม ก่อนเลือกตั้ง 2566
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบวาระ ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 และจะมีการยุบสภาก่อนหน้าการหมดวาระไม่เกิน 3 วัน ดังนั้น ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป การแข่งขันทางการเมืองจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดเดือดในการเลือกตั้งทั่วไป 2566
ในจังหวะร้อนแรงนี้เอง เครือมติชน และพันธมิตรได้จัดให้มีการชุมนุมทางความคิด โดยให้หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้ง 8 พรรค ทั้งในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน และว่าที่ขั้วรัฐบาลใหม่ ร่วมปะทะทางความคิด นำเสนอ ตอกย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง เปิดประเด็นและยุทธศาสตร์ในการบริหาร และยุทธวิธีทางการเมืองในโค้งแรก นับเป็นเวทีแรกที่เป็นการรวมตัวของนักการเมืองคนสำคัญที่มากที่สุด ในช่วงต้นฤดูเลือกตั้ง
สำหรับนักการเมืองคนสำคัญที่สุด ในสนามการเลือกตั้ง 8 คน ที่จะร่วมเปิดบทสนทนาสาธารณะเพื่อ “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ประกอบด้วย
1. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)
2. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
3. สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.)
4. วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาตไทยพัฒนา (ชทพ.)
5. สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
6. นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.)
7. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)
8. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)
ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญ 2566 ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย ทั้งโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจ “เครือมติชน” ร่วมทำหน้าที่ในบทบาทสื่อกลาง เปิดช่องทาการนำส่งความคิด ความเห็น ความมุ่งมั่นทางการเมืองของบรรดาหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี และบุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญหลังเลือกตั้ง ได้ร่วมแสดงสัญญาประชาคม ในประเด็นปัญหาที่ใหญ่ของประเทศไทย
หัวหน้าพรรค และแกนนำพรรค ทั้ง 8 พรรค จะได้แสดง “จุดยืน” คำถามเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่เป็นพิมพ์เขียวขนาดใหญ่ เครื่องมือการบริหารประเทศและตอบโจทย์ประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น ที่เกาะกินประเทศไทยทั้งระบบมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ในวงนี้คาดว่าจะมีเค้าโครงคำตอบจากปากนักการเมืองที่เป็นรูปธรรม
เวทนี้จะเป็นครั้งแรกในฤดูเลือกตั้ง 2566 ที่สังคมจะได้รับฟัง “จุดขาย” ทั้ง 8 พรรคการเมือง ที่มีโอกาสเข้าใกล้การจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด ได้คลี่จุดขายของพรรค ที่จะตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาของธุรกิจ-โครงการใหญ่ ที่รอการแก้ไข และแน่นอนว่า จุดขายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จะมีพรรคไหนประกาศตัวเลขที่ดึงดูดใจมวลชนได้มากที่สุด
และไม่ว่านักการเมืองทั้ง 8 พรรคจะมีจุดขายใหม่ จุดยืนหลัก จำเป็นต้องโชว์ “จุดแข็ง” ที่จะดึง-ดูด คะแนนจากระบบการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิมในปี 2562 คำตอบของผู้นำทางการเมือง ทั้ง 8 พรรค จึงนับว่าสำคัญต่อการตัดสินใจของโหวตเตอร์ทุกระดับ เพื่อตัดสินใจเลือกผู้เข้าไปร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย