วันอาทิตย์, 3 ธันวาคม 2566

ปมกุ้งทะเลราคาร่วง กรมประมงแจงที่มา

06 ก.ค. 2023
42

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงกรณี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นกังวลจากสถานการณ์ราคากุ้งขาวแวนนาไมมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี จนส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นกังวล และตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่มาไปหลากหลายแง่มุม“เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น กรมประมงจึงขอแจงรายละเอียดข้อเท็จจริง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยง รวมทั้งสิ้น 100,600.45 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.18 และจากสถิติข้อมูล ปี 2560-2565 ประเทศไทยจะมีผลผลิตกุ้งทะเลออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ทำให้ราคากุ้งในรอบปีจะตกต่ำใน 2 ช่วง คือ เมษายน-พฤษภาคม และกันยายน-ตุลาคม”tt ttรองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงอีกว่า นอกจากนี้สถานการณ์การผลิตและราคากุ้งโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การผลิตกุ้งของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตกุ้งหลักของโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะผลผลิตกุ้งมากเกินความ ต้องการของประเทศผู้ซื้อ ทำให้ราคากุ้งในประเทศเอกวาดอร์รวมถึงตลาดโลกลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตกุ้งของประเทศผู้ผลิตหลัก ทั้งอินเดีย เอกวาดอร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทยtt ttในขณะที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา ชะลอคำสั่งซื้อเนื่องจากปริมาณกุ้งในสต๊อกยังมีเพียงพอต่อการบริโภค จนกว่าสินค้าในสต๊อกจะได้รับการระบายออกสู่ตลาดจึงจะเริ่มคำสั่งซื้อใหม่ ประกอบกับประเทศผู้นำเข้าประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการสินค้าราคาถูก สภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ราคาขายกุ้งในตลาดโลก และราคาขายกุ้งภายในประเทศผู้ผลิตหลักทั่วโลกมีราคาลดต่ำลงtt tt“ราคากุ้งตกต่ำยังคงเป็นวัฏจักรที่พบได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ความรุนแรงของผลกระทบอาจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดผู้รับซื้อมีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ผลผลิตกุ้งหรืออุปทานมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งควรหารือร่วมกับผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูป เพื่อวางแผนการผลิตกุ้งให้ได้ ขนาด ปริมาณ และมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้ยาและสารเคมี ปล่อยลูกกุ้งในอัตราเหมาะสม ให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยลดต้นทุน ยังลดการสะสมของเสียในบ่อเลี้ยงซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคที่เป็นต้นทุนแฝงในการเลี้ยงกุ้งอีกด้วย”tt ttนายประพันธ์ บอกอีกว่า แม้ประเทศผู้นำเข้าจะชะลอคำสั่งซื้อ แต่หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้จัดกิจกรรมและโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคกุ้งภายในประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายกุ้งให้แก่เกษตรกร ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เห็นชอบให้กรมการค้าภายในดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 ตามมาตรการเพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่ายสำหรับการบริโภคภายในประเทศ โดยให้การสนับสนุนค่าชดเชยราคากุ้งให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในอัตรากิโลกรัม ไม่เกิน 20 บาท และค่าบริหารจัดการในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านการตลาด อาทิ ค่าจัดการด้านขนาดและคุณภาพ ค่าเก็บรักษา ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหรือผู้รวบรวมที่เข้าร่วมโครงการ ในอัตรากิโลกรัมละ ไม่เกิน 10 บาท โดยมีปริมาณเป้าหมาย 5,000 ตัน เกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่.