


สคร.9 เตือนเกษตรกร ฝนตกน้ำท่วมเดินเท้าเปล่าลุยน้ำลุยโคลน ระวังป่วยเป็นโรคไข้ดิน หรือเมลิออยด์ หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตได้ถ้ามีบาดแผลขีดข่วน อาการจะเป็นไข้ แต่วินิจฉัยโรคยาก ต้องเจาะเลือดตรวจผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูฝน ทำให้ฝนตกมีน้ำท่วมขังหรือพื้นดินเปียกชื้น ทางสำนักงานควบคุมโรคที่ 9 ได้ออกมาเตือนผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับดินและน้ำโดยตรงอย่าง เกษตรกร และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ไม่ควรเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง และบ่อน้ำ หากต้องทำงานสัมผัสกับดินและน้ำที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน หรือมีบาดแผลขีดข่วน ควรสวมรองเท้าบูตเพื่อป้องกัน และเมื่อเสร็จภารกิจให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที และหากมีอาการไข้สูงติดต่อกันเกิน 5 วัน ควรรีบพบแพทย์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 66 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน ว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย เชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1.การสัมผัสน้ำ หรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน 2.ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ และภูมิต้านทานของแต่ละคนtt ttอาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา สถานการณ์โรคเมลิออยสิส หรือ โรคไข้ดิน ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 26 มิถุนายน 2566 มีผู้ป่วย 1,688 ราย มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้ดินในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 24 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 327 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (นครราชสีมา) ผู้ป่วยแยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 159 ราย 2) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 81 ราย 3) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 56 ราย 4) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 31 ราย tt ttอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 54.74 รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 23.55 และเด็กในปกครอง ร้อยละ 7.34 ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 14.66 ราย รองลงมาคือกลุ่มอายุ 55-64 ปี (อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 11.4 และกลุ่มอายุ 45-54 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 7.08 ตามลำดับนายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูต หรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง หากมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน หรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.