วันอาทิตย์, 3 ธันวาคม 2566

“ส.ว.มณเฑียร” ยัน ยึดหลักการเดิม โหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากในสภา

“ส.ว.มณเฑียร” ยังยึดตามหลักการเดิม โหวตนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากในสภา ไม่เกี่ยวว่าชอบหรือไม่ชอบพรรคการเมืองไหน วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยถึงเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ตนเองยืนยันในหลักการเดิม คือยึดตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็จะโหวตตามมติของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถามต่อไปว่า จะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับนโยบายบางนโยบาย เช่น มาตรา 112 หรือไม่ นายมณเฑียร ระบุว่า นโยบายอยู่ที่การหาเสียง ซึ่งตอนนี้จบขั้นตอนในส่วนนั้นไปแล้ว ซึ่งการโหวตของตัวเองจะยึดตามเสียงของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ไม่ได้เกี่ยวว่าจะชอบหรือไม่ชอบพรรคการเมืองใดสำหรับกรณีที่มี ส.ว.บางรายออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า พร้อมที่จะหนุนตัวแทนพรรคเพื่อไทย หากถอนตัวจากพรรคก้าวไกลนั้น นายมณเฑียร กล่าวว่า เวลานี้เราต้องยอมรับว่าทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีการรวมตัวกัน มีการทำ MOU และทำงานร่วมกัน ภายใต้การเสนอชื่อพรรคที่มีคะแนนสูงสุด ให้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นเสียงข้างมากเป็นอย่างไร เราก็ต้องดำเนินไปตามนั้น แต่หลังจากที่ดำเนินการไปแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นประการใด ในส่วนนี้ไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้ ตัวเองจึงไม่ตั้งเงื่อนไขไปถึงขั้นนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า โดยส่วนตัว นายมณเฑียร มองว่าเสียงของ ส.ว.ที่จะหนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะถึง 64 เสียง นายมณเฑียร ตอบว่า มีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เพราะ ส.ว.มีความเป็นปัจเจก ไม่ได้มีหลักยึดโยงในลักษณะพรรคการเมือง ใครจะโหวตอย่างไรเป็นการตัดสินใจด้วยความเชื่อของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายใน 3 ครั้ง ครั้งแรกหาก นายพิธา โหวตไม่ผ่าน ควรเปลี่ยนคน หรือควรจะเป็นอย่างไร นายมณเฑียร บอกว่า ในส่วนนี้เป็นสิทธิของผู้ที่รวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ว.ที่จะมีอำนาจเสนอชื่อ เพียงแต่มีหน้าที่ที่จะต้องโหวตเท่านั้น.