
เลขาธิการพรรคก้าวไกล หวังได้ฉลอง 13 ก.ค. หลัง “พิธา” โหวตผ่านนายกฯ เชื่อสิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น หากไม่ผ่านเสนอซ้ำ 19 ก.ค. ยัน ก้าวไกล เสนอชื่อเดียว ยังไม่มีคนจาก เพื่อไทยวันที่ 7 ก.ค. 2566 ที่อาคารรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี ส.ว. จะไม่โหวตสนับสนุนให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี จากประเด็นมาตรา 112 ว่า เป็นแค่ความเห็นของ ส.ว.บางคน แต่ ส.ว. ส่วนใหญ่ยังไม่แสดงออกเกี่ยวกับมาตรา 112 คิดว่าจะแสดงออกกันในวันโหวตเลือกนายกฯ ขออย่าเพิ่งประเมินสถานการณ์จากสิ่งที่เห็น เพราะสิ่งที่เป็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้ อีกครั้งยังมั่นใจว่าการที่ไปเจรจากับ ส.ว. จะทำให้ผ่านไปได้ด้วยดี และมั่นใจในวิจารณญาณของ ส.ว. ส่วนใหญ่ ว่าอยากเห็นประเทศชาติเดินหน้าอย่างไร และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนได้แสดงออกว่าต้องการคืนความปกติให้กับระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งตนยังเชื่อมั่นใน ส.ว.จำนวนมากที่จะให้โอกาสนี้กับประเทศไทยเมื่อถามว่ามั่นใจว่าจะได้เสียง ส.ว.อีก 60 เสียงทั้งหมด หรือได้เสียง ส.ส. มาด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของท่านแต่ละคน เพราะเราไม่ได้ชวนมาจัดตั้งรัฐบาล แต่จะมี ส.ส.หลายคนใช้จุดยืนของตัวเอง ใช้สถานะผู้แทนของตัวเองปกป้องระบบไว้ให้ได้ ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านที่สำคัญส่วนจะมีการถอยบางเรื่องหรือไม่ เพื่อให้ นายพิธาได้เป็นนายกฯ นายชัยธวัช กล่าวว่า จะเน้นเรื่องการพูดคุยและทำความเข้าใจ เพราะส่วนใหญ่ ส.ว.จะรับรู้ข้อมูลจากสื่อมวลชนแบบสั้นๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเมื่อถามย้ำว่า สรุปจะไม่ลดเพดานเรื่องที่ส.ว. ต้องการใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเพดานที่ ส.ว. ต้องการหมายถึงอะไร แต่ที่ผ่านมาพยายามอธิบายตลอดเวลาว่าเจตนารมณ์ของก้าวไกลเป็นอย่างไร มองเห็นปัญหาอย่างไร ซึ่งการทำของเราแบบนี้ดีต่อแนวทางประชาธิปไตย และดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าถามย้ำว่า ยังยืนยันที่จะแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่ แม้จะมีการทักท้วงจาก ส.ว. นายชัยธวัช ยังมั่นใจว่าถ้าได้อธิบายเหตุผล ส.ว. ก็จะมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งต้องทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่เหลือ ซึ่งในสัปดาห์หน้า นายพิธา และแกนนำพรรคก้าวไกล จะไปพูดคุยกับสังคมและประชาชน ซึ่งจะได้สะท้อนผ่านไปยัง ส.ว. ด้วย แต่วันนี้จะมีการหารือกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อ ว่าก่อนโหวตควรจะมีเวลาและกระบวนการแสดงวิสัยทัศน์อย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายหรือซักถามอย่างเต็มที่ เพื่อให้โอกาสแคนดิเดตนายกฯ ทุกคนที่ถูกเสนอรายชื่อขึ้นมา ได้ตอบคำถาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนลงมติส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่าการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก นายพิธา อาจจะไม่ผ่านนั้น นายชัยธวัช ย้ำว่า สิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น ซึ่งหากวันที่ 13 ก.ค. ยังไม่ผ่านการคัดเลือกก็อาจต้องเสนอชื่อซ้ำในวันที่ 19 ก.ค. โดยจะไม่มีการเสนอครั้งเดียวแน่นอน แต่ก็ยังเชื่อว่าน่าจะจบในครั้งเดียว อีกทั้งไม่กังวลหากจะมีการเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่นขึ้นมาแข่ง เพราะถือเป็นเรื่องปกติในระบบรัฐสภา ที่ฝั่งเสียงข้างน้อยจะเสนอขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ขณะเดียวกันก็ไม่เชื่อว่า ส.ว.จะสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย พร้อมขออย่าเพิ่งสรุปว่าต้องโหวตกี่ครั้งถึงจะได้นายกฯ โดยขอให้ดูจากสถานการณ์ที่เป็นจริง เพราะมีหลายปัจจัย และอย่าเพิ่งตัดว่าจะจบในครั้งเดียวเมื่อถามว่าก่อนการโหวตเลือกนายกฯ จะเปิดให้สมาชิกรัฐสภาได้มีการสอบถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับ นายพิธา หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า สิ่งนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป แต่เป็นสิ่งที่ตนเตรียมหารือกับประธานสภาฯ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะจะดีกับทุกฝ่ายเมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะยอมให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ หรือไม่ นายชัยธวัช ยืนยันว่าแคนดิเดตนายกฯ ยังมีคนเดียว อย่าพูดไปถึงตอนนั้น ขณะเดียวกันตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้เสียง ส.ว. มาโหวตอีกหรือไม่ เพราะ ส.ว. ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ออกมาพูดความเห็นของตัวเอง มีเพียงส่วนน้อยที่ออกมาให้ความเห็น แต่ก็เชื่อมั่นว่าเสียง ส.ว. ที่ยังเงียบอยู่ จะเป็นเสียงที่เปิดโอกาสคืนความปกติให้กับระบบการเมืองไทยให้เดินหน้าไปด้วยกันเมื่อถามว่า ส.ว.สายทหาร จะไม่มีการโหวตให้นายพิธานั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งดูถูกอาชีพทหาร เพราะทหารจำนวนมากมีความหวังดีต่อประเทศชาติ ซึ่งตนได้มีโอกาสไปพูดคุยและอธิบายเหตุผลให้ได้รับฟัง ซึ่งทำทุกวัน ทั้งทหาร พลเรือน ตำรวจ และข้าราชการ ทำเต็มที่ที่สุดจนถึงวันสุดท้าย โดยยืนยันว่ายังมีแสงสว่างในเรื่องนี้ ชีวิตต้องมีความหวังส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะออกมากดดันในการโหวตเลือกนายกฯ เป็นห่วงหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งบอกว่ามาสนับสนุนพรรคก้าวไกล จากที่ตนเห็นแคมเปญ respect my vote คงเป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนที่ลงคะแนนเสียง ว่าให้เคารพผลเลือกตั้งและคะแนนเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ คือต้องการให้ทุกฝ่ายปกป้องระบบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ปกป้องตัวบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใด และไม่ทราบว่าจะมีกลุ่มใดออกมาทำอะไรบ้าง แต่การออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองก็ไม่อยากให้มีความรุนแรง ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะประธานสภาฯ ได้ให้นโยบายไว้พอสมควรเมื่อถามว่า หากนายพิธา ไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ถึง 2 ครั้ง อาจมีการแสดงความเห็นในโลกโซเชียล ซึ่งน่ากลัวกว่าการลงถนนหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนตอบแทนประชาชนทั้งหมดไม่ได้ และอย่าเพิ่งไปคิด แต่อยากให้มองว่าอาจได้เฉลิมฉลองกันในช่วงเย็นวันที่ 13 ก.ค. 66 พร้อมยอมรับว่าหากมีการโหวตเลือกนายกฯ เนิ่นนานเกินไป อาจส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและ ครม. ที่ล่าช้า เพราะจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และการพิจารณางบประมาณ ปี 2567 รวมถึงนโยบายเร่งด่วน อาทิ ภัยแล้ง เศรษฐกิจที่นักลงทุนชะลอการลงทุน เพราะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย ซึ่งจะกระทบไปหมด ดังนั้นถ้าเรื่องจบเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี และเป็นการจบแบบเคารพผลการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ