



อีกแล้วหรือ พายุสุริยะบนดวงอาทิตย์ จะทวีความรุนแรงถึงจุดสูงสุดในอีก 2 ปีข้างหน้า สร้างความกังวลให้กับผู้คนอีกครั้งหลังเคยมีข่าวลือออกมาเป็นระลอกๆ จะเกิดพายุสนามแม่เหล็ก ส่งผลกระทบต่อดาวเทียม ทำให้ระบบสื่อสาร ระบบอินเทอร์เน็ตล่มใช้งานไม่ได้นานนับเดือนหรือเป็นปี และมักจะเชื่อมโยงประโยควันสิ้นโลก “Internet apocalypse” อ้างเป็นคำเตือนของนาซา ยิ่งสร้างความตระหนกมากขึ้นไปอีกในความเป็นจริงแล้วนาซา ไม่ได้ออกมาเตือนพายุสุริยะ อย่างเป็นทางการ แต่พยายามหาแนวทางเตือนการเกิดพายุสุริยะให้ทันท่วงที ก่อนจะส่งผลกระทบต่อโลก และที่ผ่านมา นาซาประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก ในการส่งยานปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) หรือ PSP ในการปฏิบัติภารกิจเสี่ยงภัยเดินทางผ่านลมสุริยะ ทำความเข้าใจกลไกการทำงานของดวงอาทิตย์ ในการปล่อยพลังงานและขับเคลื่อนพายุสนามแม่เหล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเครือข่ายการติดต่อสื่อสารบนโลก เพื่อป้องกันโลกไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ในทศวรรษหน้าtt ttเหตุการณ์พายุสุริยะอย่างรุนแรง เข้าขั้น ”โซลาร์แฟลร์” หรือมีพลังทำลายล้างขั้นสูงสุดของดวงอาทิตย์ที่ปลดปล่อยออกมา เทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์ชนิด 1 เมกะตัน 10,000 ล้านลูก เคยออกฤทธิ์มาแล้ว เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2402 หรือเมื่อ 164 ปีก่อน ทำให้สายโทรเลขลัดวงจร จนเกิดเพลิงไหม้แสงไฟพวยพุ่งในหลายพื้นที่ในยุโรปและอเมริกา และกลางปี 2532 ทำให้ไฟฟ้าดับทั่วทั้งเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ยาวนานกว่า 9 ชั่วโมง เพราะพายุสุริยะกระหน่ำรุนแรง จนหม้อแปลงไฟระเบิด และในอดีตเคยมีดาวเทียมหลายดวงได้รับความเสียหายมาแล้วtt ttหากเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว จะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะได้รับความเสียหายร้ายแรงมากน้อยเพียงใด? แต่เมื่อผู้รู้ออกมาอธิบาย อาจทำให้คลายกังวลไม่ต้องตระหนกตกใจกันอีก “ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า พายุสุริยะเป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ตามปกติของดวงอาทิตย์ มีคาบการเกิดเป็นช่วงๆ มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนของสนามแม่เหล็ก และบางครั้งจะปลดปล่อยอนุภาคเป็นประจุไฟฟ้าพุ่งออกมา“ถามว่าสามารถทำลายโลกได้หรือไม่ ก็ไม่ทำลาย และการปะทุของดวงอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดแสงเหนือแสงใต้ หรือออโรรา ในขั้วโลก บางครั้งอาจทำลายการสื่อสารในบางความถี่ได้เหมือนกัน แต่ก็น้อยแทบไม่มีเลย และโอกาสจะทำลายดาวเทียม ก็น้อยมาก เพราะมีการออกแบบสร้างเกราะป้องกันเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว แม้พายุสุริยะครั้งนี้มีความรุนแรงมาก ถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว”tt ttการปะทุของดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดแสงเหนือ-แสงใต้ หรือออโรรา ในขั้วโลกเมืองไทยของเรา รับผลกระทบพายุสุริยะ น้อยมากขณะที่เมืองไทยจะได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะตั้งอยู่เส้นศูนย์สูตรของสนามแม่เหล็กโลกในจ.สงขลา ทำให้โอกาสที่อนุภาคมีประจุไฟฟ้าเมื่อเกิดพายุสุริยะ จะทะลุเข้ามาคงน้อยมาก ถ้าเทียบกับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ และต้องแรงกว่าเหตุการณ์ในประเทศแคนาดาเมื่อปี 2532 ที่พุ่งมาโดยตรง หรือแม้อนุภาคประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ที่มีปริมาณมหาศาล ด้วยความเร็ว 1 พันกิโลเมตรต่อวินาที ใช้เวลาประมาณ 26 ชั่วโมง เดินทางผ่านอวกาศเป็นระยะทางราว 150 ล้านกิโลเมตร กว่าจะมาถึงโลก ก็จะมีจำนวนน้อยลงแต่ถ้าฟังวิทยุคลื่นสั้น อาจจะได้รับผลกระทบ ส่วนระบบอินเทอร์เน็ตเป็นสายนำสัญญาณไฟเบอร์ ออฟติก มีความถี่คนละช่วงไม่มีผลกระทบ รวมถึงดาวเทียมมีการออกแบบป้องกันโดยหันไปคนละด้านกับดวงอาทิตย์ อีกทั้งสามารถคาดการณ์การเกิดพายุสุริยะได้อยู่แล้ว เพราะปัจจุบันทางนาซา มียานโซโฮสำรวจดวงอาทิตย์ และเฝ้าระวังการก่อตัวของพายุสุริยะ เพื่อออกมาเตือนให้โลกเตรียมพร้อมรับมืออย่างครั้งล่าสุด.