


“ราเมศ” ยันสมาชิก ปชป. ลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคได้ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ หากมีคุณสมบัติครบ ยังไม่ชัด “อภิสิทธิ์” จะลงแข่ง แต่รับสมาชิกเรียกร้อง อัด พวกกดดันให้เลือก “พิธา” ยุบพรรคไปรวมก้าวไกลเลยดีกว่าไหมวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว ถึงการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ว่า การประชุมใหญ่ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม นี้ จะมีวาระหลัก คือ เลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งสิ้น 11 ตำแหน่ง รวม 41 คน โดยจะมีการเปิดโอกาสให้แคนดิเดต ชิงเก้าอี้ แสดงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และนโยบาย ในกรอบเวลาไม่เกิน 7 นาที ยืนยันว่า เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับพรรค ข้อ 31 สามารถที่จะลงสมัครเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ ส่วนผู้ที่จะสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ตามข้อบังคับพรรค ข้อที่ 32 ระบุว่า จะต้องเป็น หรือ เคยเป็น ส.ส. ในนามพรรค แต่หากไม่เคยเป็น จะต้องให้ที่ประชุมมีมติรับรองจำนวน 3 ใน 4 ให้บุคคลนั้นสมัครเป็นหัวหน้าพรรคได้ ส่วนกรณีที่มีสมาชิกจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้มีการยกเว้นข้อบังคับพรรคข้อที่ 137 ให้ ทุกเสียง มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่ากันทุกคน นายราเมศ มองว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีระบบประชาธิปไตย ดังนั้นขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับพรรค แต่หากมีผู้เสนอการใช้ 1 สิทธิ 1 เสียง จะต้องมีการรับรองในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ซึ่งจะต้องรอวันประชุมจริงว่า จะมีองค์ประชุมเท่าไร จึงจะสามารถคำนวณออกมาได้“ไม่ว่าจะมีการเสนอตัวมากี่ท่านทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และข้อบังคับพรรค ไม่มีใครที่จะได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะการเล่นตุกติกกับข้อบังคับของพรรค ประชาธิปัตย์เราเป็นสถาบันการเมือง ถ้าเกิดเราไม่ทำตามหลักความถูกต้องให้เป็นตัวอย่างในสังคมเราอยู่มาจนถึงวันนี้ไม่ได้หรอกครับ”tt ttส่วนกระแสข่าวที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค จะกลับมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งนั้น นายราเมศบอกว่า นายอภิสิทธิ์เป็นอดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีศักยภาพ และมีความเป็นประชาธิปัตย์มาก ซึ่งตอนนี้ก็มีเสียงสะท้อนของสมาชิกพรรคที่อยากจะให้นายอภิสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และหากนายอภิสิทธิ์จะลงชิงตำแหน่ง ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามข้อบังคับพรรค แต่เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจน ว่า นายอภิสิทธิ์จะเอาลงแข่งจริงหรือไม่ ย้ำว่า ผู้ที่เคยเป็นอดีตหัวหน้าพรรคสามารถที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกได้ โดยไม่จำกัดรอบส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้นัดหมายรวมตัวสมาชิก บริเวณลานพระแม่ธรณีฯ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจะแสดงจุดยืนในเรื่องของการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ก่อนที่จะแจ้งเลื่อนนัดหมาย โดยให้สมาชิกที่จะแสดงจุดยืนไปร่วมประชุมกันพร้อมกันในวันที่ 9 กรกฎาคม นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล นายราเมศ บอกว่า เป็นสิทธิของสมาชิกที่จะสามารถเข้าประชุม ซึ่งเรื่องนี้ตนเป็นผู้เสนอเอง ย้ำว่าไม่ได้เป็นองค์ประชุมแต่เป็นเพียงสมาชิกที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ตามข้อบังคับของพรรคที่จะสามารถเข้าไปฟังการประชุมได้ โดยต้องมีการจัดที่นั่งให้กับสมาชิก หรือผู้สังเกตการณ์โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการให้เกียรติ อีกทั้งจะมีการแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด สาขาพรรค หรืออดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า ให้ฟังเสียงของสมาชิกทุกคนที่อาจจะมาร่วมประชุมหรือไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยว่า มีเสียงสะท้อนหรือความเห็นในเรื่องของหัวหน้าพรรคอย่างไรบ้าง เมื่อถามถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกของพรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ กล่าวว่า กระบวนการของพรรคหลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้นก็จะนัดประชุมถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคไปแล้ว จะมีคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะประชุมร่วมกันกับ ส.ส. อีก 25 คนตามข้อบังคับ ย้ำว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีก็เปรียบเสมือนกับการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นต้องมีการเรียกประชุมร่วมกันเพื่อที่จะมีมติ คิดว่า หลังจากวันที่ 9 กรกฎาคม จะเกิดความชัดเจนในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นและจะไม่มีการฟรีโหวต แต่จะเป็นไปตามมติของพรรคในการกำหนดทิศทางทางการเมืองtt ttเมื่อถามว่าก่อนจะได้ข้อสรุปทางพรรคจะมีการหารือกับฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า เรื่องการจะไปเจรจาว่าจะมีการร่วม หรือไม่ร่วมรัฐบาลหรือพูดคุยกันว่าจะไปจับมือเป็นฝ่ายค้าน ยืนยันว่า ทางพรรคยังไม่มีการพูดคุยกันว่า จะเป็นไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้นต้องรอหลังจากมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กับ ส.ส. ภายในพรรคอีกครั้งเมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายเรียกร้องให้เคารพหลักการที่ว่า อยากให้สนันสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคอันดับ 1 เป็นนายกรัฐมนตรีและควรแยกเรื่องการยกเลิกม.112 ออกจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายราเมศกล่าวว่า ตนมองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในสมาชิกรัฐสภาว่าจะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี “ถือว่านั่นเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ถ้าหากจะบอกว่าเสียงข้างมากชนะการเลือกตั้งแล้วมาบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์เลือกคุณพิธาเป็นนายก ไม่งั้นจะตั้งพรรคการเมืองไปเพื่ออะไร ยุบไปร่วมกับพรรคก้าวไกลดีมั้ยครับ” นายราเมศยังกล่าวอีกว่า ตามหลักประชาธิปไตยจะต้องฟังเสียงข้างน้อยไม่ใช่ว่าฝั่งเสียงข้างมากจะใช้กระบวนการจากสังคมมากดดันให้พรรคอื่นยกมือให้กับตัวเอง