
“เสรี” ถอยยัน ส.ว. ไม่เข้าชื่อยื่นตีความคุณสมบัติ “พิธา” ปล่อยเป็นกระบวนการของสภาฯ ย้ำ ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ยับยั้งการแก้ไขมาตรา 112 เผย หากต้องโหวตรอบ 2 ชื่อเดิม ส.ว. งดออกเสียงวันที่ 7 ก.ค. 2566 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ระบุถึงการศึกษาแนวทางการเข้าชื่อ ส.ว. ที่จะยื่นตีความคุณสมบัติของบุคคลที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดเห็นว่าไม่ใช่แนวทางและไม่เหมาะสม รวมถึงไม่ควรทำ โดยขณะนี้ทราบว่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่อาจจะเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นคุณสมบัติของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ดังนั้น ควรปล่อยให้กระบวนการเป็นเรื่องของสภาฯ ขณะเดียวกันก็ทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของ นายพิธา และเตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าเรื่องนี้จะมีความชัดเจน ส่วนจะดำเนินการได้ทันก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม สกัดแผนแก้มาตรา 112 ผู้สื่อข่าวถามต่อไปถึงเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีผู้เสนอว่าไม่ควรนำประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 หรือคุณสมบัตินายพิธา มาตั้งแง่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน นายเสรี ระบุว่า ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่แค่เลือกหรือไม่เลือก ดังนั้น กรณีจะให้ความเห็นชอบต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ส่วนที่บางฝ่ายอ้างว่า ส.ว. สามารถใช้อำนาจยับยั้งการแก้ไขมาตรา 112 ตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่สามารถรอให้ถึงตอนนั้นได้ เพราะ ส.ว. ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เนื่องจากทราบเจตนาของผู้เสนอแก้ไขว่าต้องการใช้เป็นเวทีเพื่อเปิดช่องวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูงเผยโหวตรอบ 2 ส.ว. งดออกเสียงขณะที่กรณีโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก หาก นายพิธา ได้คะแนนไม่ถึง 376 เสียงของรัฐสภา จะทำให้เกิดสถานการณ์พลิกขั้วการเมืองหรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า เกิดได้ทุกอย่าง เพราะขึ้นอยู่ ส.ส. ไปจัดทัพ รวบรวมคะแนน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการพลิกขั้วหรือเปลี่ยนข้างได้ทั้งสิ้น และส่วนตัวเชื่อว่าการเมืองหลังจากนั้นจะไม่อ่อนแอ ส่วนกรณีที่ ส.ว. มีความเห็นว่าให้ปัดตกชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่โหวตไม่ผ่านในรอบแรกนั้น เห็นว่าตามกติกาไม่มีสิ่งใดห้าม แต่อยู่ที่ความเหมาะ ความควร หากคนที่รัฐสภาไม่เห็นชอบในรอบแรก จะเสนอกลับมาอีกเพื่ออะไร หากทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดภาพได้ว่า มีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่คะแนนรอบแรกปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งหากรอบแรกไม่ได้ รอบต่อไปต้องเปลี่ยนคน“หากรอบ 2 พรรคการเมืองยังเสนอชื่อคนเดิม ส.ว. ไม่จำเป็นต้องประท้วงหรือวอล์กเอาต์ แค่นั่งบนเก้าอี้และงดออกเสียง ก็เพียงพอ และมีค่าเท่ากัน”