วันพุธ, 6 ธันวาคม 2566

"ธาริต" แถลงยัน ฟังคำพิพากษา 10 ก.ค. คดี อภิสิทธิ์-สุเทพ ฟ้องความผิด ม.157

“ธาริต” อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงยืนยันวันที่ 10 ก.ค. จะเดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินคดีที่อภิสิทธิ์-สุเทพ ฟ้องเอาผิด ม.157 และ ม.200 วรรคสอง กรณีสั่งฟ้องดำเนินคดีฐานสั่งฆ่าประชาชนจากการสลายการชุมนุม นปช.ปี 53 พร้อมแฉเป็นครั้งแรกด้วยว่าเคยถูกทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 57 เรียกไปหา ขู่ไม่ให้ทำคดี 99 ศพ ด้านโฆษกปชป.โต้กลับระบุคดีพิสูจน์ความจริงจนสิ้นกระแสความแล้วจากกระบวนการยุติธรรม จากนั้นถึงฟ้องร้องกลับ ทำไมนายธาริตถึงให้การรับสารภาพต่อศาล รวมทั้งอยากให้บอกชื่อนายทหารว่าเป็นใคร ส่วนแม่ของ “น้องเกด” อาสาพยาบาลสาวหนึ่งในผู้ถูกยิงเสียชีวิต เผยว่า หลังจากรัฐประหารคดีเงียบเป็นเป่าสาก อยากฝากรัฐบาลใหม่ทำความจริงให้ปรากฏกรณีศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 9 คดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชนในการสลายม็อบ นปช.เมื่อปี 53 ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว 10 ครั้ง และนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 10 ก.ค. เวลา 09.00 น.tt ttที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เขตหลักสี่ กทม. เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ก.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และทนายความ พร้อมญาติผู้เสียชีวิตคดี 99 ศพ เหตุการณ์สลายม็อบ นปช. อาทิ นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม นายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ พ่อของนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ เสียชีวิตบริเวณแยกคอกวัว ร่วมกันแถลงข่าว “ธาริตฯและญาติ 99 ศพ” ขอศาลฎีกาคืนความยุติธรรมให้ผู้ตาย 99 ศพ และพ้นจากตราบาป เปิดเผยข้อมูลคดีดังกล่าวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน นายธาริตกล่าวว่า วันที่ 10 ก.ค. จะไปฟังคำพิพากษา หากจะถูกต้องโทษจำคุกก็พร้อมเข้าไปในเรือนจำ เช่นเดียวกับคดีที่ถูกนายสุเทพฟ้องคดีหมิ่นประมาทกรณีสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ต้องโทษจำคุก 13 เดือนมาแล้วนายธาริตกล่าวว่า ส่งคำร้องถึงศาลฎีกาผ่านศาลอาญา เพื่อให้พิจารณาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการฟ้องดำเนินคดีของโจทก์ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากคดีเกิดขึ้นในช่วงความไม่สงบทางการเมืองจนเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เนื่องจากเป็นข้อหาที่เหวี่ยงแหกระทบสิทธิ์เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะไม่เคยระบุถึงพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาให้ชัดเจน ตั้ง ศอฉ.มาควบคุมสถานการณ์ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ผอ.ศอฉ. อย่างชัดเจนถึง 5 ฉบับ ให้ทหารใช้อาวุธจริงควบคุมสถานการณ์ ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 คน คดีนี้ในฐานะอดีตอธิบดีดีเอสไอได้ดำเนินคดีกับโจทก์ฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.288 และ 289 แต่กลับถูกฟ้องกลับฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา เห็นว่าข้อหานี้ขัดแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญนายธาริตกล่าวต่อว่า ที่มีความจำเป็นต้องเลื่อนฟังคำสั่งคดีของศาลฎีกาหลายครั้ง คือ 1.ส่งหมายศาลไม่ถึงภูมิลำเนาของจำเลย 2.มีอาการเจ็บป่วยเป็นโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง ป่วยเป็นเส้นเลือดอุดตันและต้องผ่าตัดไตถึง 2 ข้าง 3.ญาติของผู้เสียชีวิตยื่นเรื่องขอเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย แต่ต้องการเข้ามาเป็นคู่ความในฐานะผู้เสียหาย ต้องรอให้ศาลฎีกาพิจารณา และ 4.กำลังยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าข้อกฎหมายที่ฟ้องนั้นมีความขัดแย้งหรือไม่ อยู่ระหว่างรอศาลฎีกามีคำสั่ง ยืนยันว่าขอเลื่อนฟังคำสั่งแต่ละครั้งเป็นไปโดยชอบของกฎหมายไม่มีเจตนาหลบเลี่ยง ศาลดังกล่าวชั้นต้นยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 คน ให้เหตุผลว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยนั้นไม่เป็นความผิด เพราะออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธจริง เนื่องจากต้องควบคุมสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง คำสั่งดังกล่าวสมควรแก่เหตุแล้ว หากศาลฎีกามีความเห็นพ้องจะแสดงให้เห็นได้ว่ากระบวนการฟ้องดำเนินคดีเรียกร้องความเป็นธรรมของญาติผู้เสียชีวิตจะสิ้นสุด และคำพิพากษาจะเป็นบรรทัดฐานในคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกคำสั่งให้ดำเนินการผู้ชุมนุมชอบด้วยกฎหมายtt ttอดีตอธิบดีดีเอสไอกล่าวด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการสลายชุมนุมยังเป็นอธิบดีดีเอสไอ มีทหารนายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 57 เรียกไปเจรจาไม่ให้ดำเนินคดี 99 ศพพูดว่า “อย่าดำเนินคดี 99 ศพนะ ถ้าไม่ทำตาม อั๊วจะปฏิวัติ และจะโดนย้ายเป็นคนแรก” ตนและนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งเดิม ถูกข่มขู่ครั้งแรกในการทำคดีและไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน สำหรับคดีการเสียชีวิตของ 99 คน ยังเหลืออายุความอีก 7 ปี ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอิสระขึ้นมาแบบระดับ Senior Super Board เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดให้ความเป็นธรรมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในกรณีนี้แล้ว ที่เพิ่งออกมาเคลื่อนไหวเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย หากออกมาพูดจะยิ่งทำให้แย่ลง เห็นว่ากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ที่จะสามารถให้ความเป็นธรรมได้ หากถูกตัดสินจำคุกยืนยันว่า จะไม่ใช่การติดคุกฟรีไม่มีแค่ตนเท่านั้นที่จะต้องติดคุกด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ “น้องเกด” พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิต กล่าวว่า การรัฐประหารปี 57 มีผลต่อคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมปี 53 เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องการปกปิดคดี เนื่องจากรู้ว่าตัวเองผิดที่ไปฆ่าคนตามคำสั่ง ศอฉ. ตลอดเวลาที่ต่อสู้คดีหลังการรัฐประหารถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด หากจะมีขบวนการฟอกขาวให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ อยากฝากไว้ว่าเหตุการณ์ปี 53 มีคนตายหลักร้อยและคนเจ็บอีกกว่า 2,000 คน คนทั่วโลกมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น บุคคลในกระบวนการยุติธรรมไทยจะมองเห็นหรือไม่ ขอฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า ขอให้หันมาสนใจทำความจริงให้ปรากฏ คดีของน้องเกดเงียบหายไปได้รับแจ้งว่า ส่งสำนวนกลับไปที่ดีเอสไอนานแล้ว เพิ่งรู้ว่าดีเอสไอชุดใหม่หลังการรัฐประหารไม่ได้ทำคดีต่อ จึงร้องให้ฟ้องทหาร 8 นายที่มีภาพปรากฏถืออาวุธปืนอยู่บนรางรถไฟฟ้า ดีเอสไอส่งสำนวนให้อัยการศาลทหารเป็นผู้พิจารณา สุดท้ายมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐาน ขณะนี้เตรียมไปฟ้องร้องคดีใหม่ที่ศาลอาญาส่วนนายณัทพัช อัคฮาด พี่ชายของ “น้องเกด” กล่าวว่า ที่ผ่านมา 13 ปีพยายามเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาตลอด ยิ่งเรียกร้องยิ่งถูกดำเนินคดีกลับ ขณะนี้ถูกดำเนินคดีแล้ว 44 คดี รวมทั้ง ม.116 ข้อหายุยง ปลุกปั่น ขณะที่นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของคดีผู้เสียชีวิต 99 ศพคดีสลายการชุมนุม นปช. กล่าวว่า ยื่นฟ้องไป 99 คดี แต่เพิ่งมีการไต่สวนการเสียชีวิตไปเพียง 27 คดี ยังมีคดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกหลายคดีด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าสิ่งที่นายธาริตกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ มีการพิสูจน์ความจริงจนสิ้นกระแสความแล้ว จากกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญาข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆสลายการชุมนุม ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.288 เป็นข้อหาที่ร้ายแรง ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน อำนาจการพิจารณาคดีจึงตกไปอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผลการวินิจฉัยเป็นที่ยุติว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลที่อยู่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง กลุ่ม นปช.ชุมนุมมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ ศอฉ.จำเป็นต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่ง ทั้งนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองนายราเมศกล่าวต่อว่า นายธาริตถูกฟ้องกลับข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ นายธาริตขอเลื่อนฟังคำพิพากษามาหลายครั้ง ทำไมไม่เอาสิ่งที่แถลงวันนี้ไปสู้คดีในชั้นศาล ต่อมาทำไมถึงต้องให้การรับสารภาพ แสดงว่านายธาริตยอมรับว่าดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้ายืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายจะรับสารภาพทำไม แต่ยังกลับมากล่าวหาบุคคลอื่น ทั้งที่ตัวเองให้การรับสารภาพต่อศาลแล้ว ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพไม่เคยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเรียกร้องให้นิรโทษกรรม ต่อสู้คดีพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรม นายธาริตออกมาแถลงเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมบิดเบือนให้สังคมสับสน คนจริงเขาไปสู้ในศาลไม่ใช่มาพูดนอกศาล ส่วนประเด็นที่มีใครเรียกไปสั่งว่า “อย่าดำเนินคดี 99 ศพ” นายทหารคนนั้นเป็นใคร ขอท้าให้เปิดเผยออกมา อย่าพูดเพียงเพื่อให้ตัวเองดูดี