
“กรมการแพทย์” เผย 6 โรคอันตราย ที่ประชาชนมักเจอในช่วงหน้าฝน พร้อมแนะวิธีป้องกัน พร้อมหมั่นสังเกตตัวเองวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 มีรายงานว่า นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในฤดูฝน เป็นช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สภาพอากาศชื้น และเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเกิดโรคผิวหนังต่างๆ ตามมาด้วยโดยโรคผิวหนังที่จะพบได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อรา หรือเเบคทีเรียที่จะเจริญเติบโต เเละก่อโรคได้ดีในสภาพอากาศ เเละสิ่งเเวดล้อมในฤดูฝน ประชาชนที่เดินทางออกนอกบ้าน บางครั้งอาจจะเปียกฝน หรือเดินลุยน้ำขัง จะพบปัญหาโรคผิวหนังที่ตามมา จึงควรหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัย เเละดูเเลรักษาที่ถูกต้องต่อไปแพทย์หญิงชนิศา เกียรติสุระยานนท์ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในฤดูฝน ได้แก่โรคเกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน มักเกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ คอ พบมากในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก และใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นโรคกลาก มีลักษณะเป็นผื่นวง มีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อยๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้าโรคเท้าเหม็น เกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดบริเวณผิวหนังชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะมีกลิ่นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็กๆ บริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้าโรคน้ำกัดเท้า มีอาการระคายเคืองผิวหนังจากความอับชื้น เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้าและซอกนิ้วเท้า บางรายอาจมีอาการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป สังเกตจากมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลงหลากหลายชนิด เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากสัมผัสอาจเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ หากมีอาการแพ้รุนแรง ควรพบแพทย์ สำหรับการป้องกันและการดูแลตัวเอง ในช่วงหน้าฝน สามารถทำได้ ดังนี้ 1. อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายหลังทันทีโดนฝน 2. ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด แห้งสนิท ไม่อับชื้น 3. ล้างมือ ล้างเท้า หลังลุยน้ำ และ 4. หากพบปัญหาผิวหนัง แนะนำให้มาพบแพทย์ทันที.