






นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ ในปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับเตาปฏิกรณ์ในโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ จังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออกของญี่ปุ่น น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมากกว่าหนึ่งล้านตันได้สะสมอยู่ที่นั่น ตอนนี้ญี่ปุ่นต้องการเริ่มปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency-IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานที่สนับสนุนแผนของญี่ปุ่น ในการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ท้องทะเลนับตั้งแต่มีการประกาศเมื่อ 2 ปีก่อน แผนนี้กลับได้รับการโต้เถียงอย่างมากในญี่ปุ่น โดยชุมชนท้องถิ่นแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของน้ำในทะเล กลุ่มอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในญี่ปุ่นและภูมิภาคอื่นๆ ต่างก็แสดงความวิตกเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิตของพวกเขานับจากนี้ไป เนื่องจากพวกเขากลัวว่าผู้บริโภคที่ได้รับทราบข่าวสารอาจจะหลีกเลี่ยงการซื้อและบริโภคอาหารทะเลเช่นเดียวกับหลายประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจเช่นกัน จีนเป็นประเทศที่ออกมาแสดงความวิตกกังวลมากที่สุด โดยกล่าวหาว่า ญี่ปุ่นปฏิบัติต่อมหาสมุทรเหมือนเป็น “ท่อน้ำทิ้งส่วนตัว” และยังได้วิพากษ์วิจารณ์รายงานของ IAEA ซึ่งทบทวนแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทร โดยกล่าวว่า ข้อสรุปนั้นเป็นการรายงานเพียงด้านเดียว ไม่ได้สะท้อนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอย่างครบถ้วน ขณะที่แผนดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของญี่ปุ่นคืออะไร และทำให้เกิดความปั่นป่วนน่านน้ำแถบนี้ได้อย่างไรtt ttญี่ปุ่นมีแผนจัดการกากนิวเคลียร์อย่างไรนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ บริษัทโรงไฟฟ้าเทปโก (Tepco) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งนี้ ต้องสูบน้ำเพื่อทำให้แท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟุกุชิมะเย็นลง ซึ่งหมายความว่าทุกวันโรงงานจะผลิตน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งได้มีการนำไปเก็บไว้ในถังขนาดใหญ่ มีการเติมถังมากกว่า 1,000 ถัง และญี่ปุ่นกล่าวว่า นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว ต้องการค่อยๆ ปล่อยน้ำนี้ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยยืนยันว่าจะระบายออกอย่างปลอดภัยการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทร เป็นกิจวัตรประจำวันของโรงงานนิวเคลียร์ แต่เนื่องจากนี่เป็นผลพลอยได้จากอุบัติเหตุ จึงไม่ใช่กากนิวเคลียร์ทั่วไปTepco ยืนยันว่า การกรองน้ำผ่านระบบ Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งลดสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่ให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยที่ยอมรับได้ นอกเหนือจาก ทริเทียม (Tritium) และคาร์บอน-14 (Carbon-14) ซึ่งเป็นรูปแบบกัมมันตภาพรังสีของไฮโดรเจนและคาร์บอนตามลำดับ และแยกออกจากน้ำได้ยาก มีอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ น้ำ และแม้แต่ในมนุษย์ เนื่องจากพวกมันก่อตัวขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลก และสามารถเข้าสู่วัฏจักรของน้ำได้ โดยระบุว่า กัมมันตรังสีทั้งสองชนิดปล่อยรังสีในระดับต่ำมาก แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหากบริโภคในปริมาณมาก ขณะที่น้ำที่ผ่านการกรองจะผ่านการบำบัดอื่น จากนั้นจะเจือจางด้วยน้ำทะเลเพื่อลดความเข้มข้นของสารที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทร นอกจากนี้ ทาง Tepco กล่าวว่า ระบบวาล์วของบริษัทจะช่วยให้แน่ใจว่าจะไม่มีการปล่อยน้ำเสียที่ไม่เจือปนออกมาโดยไม่ตั้งใจtt ttรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่า ระดับไอโซโทปขั้นสุดท้าย ประมาณ 1,500 เบคเคอเรลต่อลิตร มีความปลอดภัยกว่าระดับที่กำหนด โดยหน่วยงานควบคุมการปล่อยกากนิวเคลียร์หรือองค์การอนามัยโลกสำหรับน้ำดื่ม จากกรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า Tepco และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาเพื่อแสดงให้เห็นว่า น้ำที่ปล่อยออกมาจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในทะเล นักวิทยาศาสตร์หลายคนสนับสนุนแผนนี้เช่นกัน โดย นายเจอร์รี โทมัส ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาระดับโมเลกุล ซึ่งทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น กล่าวว่า น้ำที่ปล่อยออกมาจะเป็นหยดหนึ่งในมหาสมุทร ทั้งในแง่ของปริมาณและกัมมันตภาพรังสี ไม่มีหลักฐานว่าไอโซโทปรังสีในระดับต่ำมากเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพ tt ttกระแสต่อต้านรุนแรงขึ้นเรื่อยๆผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก UN ได้คัดค้านแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของรัฐบาลญี่ปุ่น เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซเผยแพร่รายงานที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดของ Tepco โดยอ้างว่า ยังดำเนินการได้ไม่ดีพอในการกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เวลานี้ญี่ปุ่นควรเก็บน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไว้ในถัง พวกเขาโต้แย้งว่าสิ่งนี้เป็นการซื้อเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีการประมวลผลใหม่ และปล่อยให้กัมมันตภาพรังสีที่เหลืออยู่ลดลงตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่ไม่สบายใจกับแผนการนี้ พวกเขากล่าวว่า ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่ามันจะส่งผลกระทบต่อก้นมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างไรทางด้าน นายโรเบิร์ต ริชมอนด์ นักชีววิทยาทางทะเล ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย ระบุว่า เราได้เห็นการประเมินผลกระทบทางรังสีวิทยาและระบบนิเวศที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เรากังวลอย่างมากว่าญี่ปุ่นจะไม่เพียงแต่ตรวจไม่พบสิ่งที่ลงไปในน้ำ ตะกอน และสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีทางขอความช่วยเหลือใดๆ ที่จะกำจัดมันออกไป และไม่มีทางเอามากลับเข้าไปในขวดได้ ขณะเดียวกัน นายทัตสึจิโร ซูซูกิ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์จากศูนย์วิจัยเพื่อการเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์แห่งมหาวิทยาลัยนางาซากิ กล่าวว่า แผนการนี้ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่มลพิษร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่เนื่องจาก Tepco ล้มเหลวในการป้องกันภัยพิบัติในปี 2554 ทำให้เขาจึงยังคงกังวลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนโดยไม่ได้ตั้งใจtt ttเสียงสะท้อนจากประเทศเพื่อนบ้านจีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงกับประเทศในภูมิภาคและสถาบันระหว่างประเทศ ก่อนที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล นอกจากนี้ ยังกล่าวหาว่ารัฐบาลญี่ปุ่นละเมิดต่อพันธกรณีทางศีลธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ และเตือนว่าหากดำเนินการตามแผน ญี่ปุ่นจะต้องรับผลที่ตามมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นเจ้าภาพให้ทีมผู้เชี่ยวชาญของเกาหลีใต้เข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้มีท่าทีอ่อนกว่าจีน โดยบอกว่ารัฐบาลเคารพต่อการประเมินของ IAEA ขณะที่ประชาชนชาวเกาหลีใต้ต่างแสดงความโกรธแค้น การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนล่าสุด พบว่าชาวเกาหลีใต้ประมาณ 80% กังวลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล และกล่าวโทษรัฐบาลที่ไม่ได้เจรจาต่อรองกับญี่ปุ่นอย่างเพียงพอก่อนหน้านี้ ชาวเกาหลีใต้หลายพันคนเข้าร่วมการประท้วงในกรุงโซล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากกลัวว่าอุปทานอาหารจะหยุดชะงัก ทำให้มีการกักตุนเกลือและสิ่งจำเป็นอื่นๆtt ttในการตอบสนองข้อกังวลใจของประชาชน รัฐสภาของเกาหลีใต้ได้ลงมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คัดค้านแผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่มีความชัดเจนว่าสิ่งนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของญี่ปุ่นอย่างไร เจ้าหน้าที่ยังจัดให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของอาหารทะเล และยังคงยึดตามคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นที่มีอยู่จากภูมิภาครอบๆ โรงงานฟุกุชิมะเพื่อบรรเทาความกลัวของประชาชน นายกรัฐมนตรีฮัน ดัคซู กล่าวว่า เขายินดีที่จะดื่มน้ำฟุกุชิมะเพื่อแสดงว่าปลอดภัย ขณะที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า น้ำที่ไหลออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะมาปนเปื้อนสู่น่านน้ำเกาหลีในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค ประเทศหมู่เกาะหลายแห่งได้แสดงความกังวลกับกลุ่มภูมิภาค Pacific Islands Forum โดยเรียกแผนการนี้ว่าเป็น “หายนะการปนเปื้อนนิวเคลียร์ครั้งใหญ่”tt ttญี่ปุ่นมีท่าทีอย่างไรทางการญี่ปุ่นและ Tepco พยายามโน้มน้าวผู้คนด้วยการอธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการปล่อยน้ำ โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ บอกว่าญี่ปุ่นจะเดินหน้าอธิบายต่อไปด้วยความโปร่งใสสูงสุด ขณะที่ในเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ ญี่ปุ่นยังชี้ให้เห็นว่าโรงงานนิวเคลียร์อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในจีน ปล่อยน้ำที่มีไอโซโทปในระดับที่สูงกว่ามาก พร้อมขอให้เชื่อถือรายงานของ IAEA ซึ่งเผยแพร่โดย นายราฟาเอล กรอสซี หัวหน้าหน่วยงาน IAEA ที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นการเผยแพร่รายงานฉบับนี้ มีขึ้นหลังจากการสอบสวนเป็นเวลา 2 ปี พบว่า Tepco และหน่วยงานของญี่ปุ่นปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศในหลายด้าน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก การตรวจสอบและการบังคับใช้ การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินกัมมันตภาพรังสี โดยเชื่อว่าจะมีผลกระทบทางรังสีเล็กน้อยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม โดยญี่ปุ่นระบุว่า สามารถเริ่มปล่อยน้ำจากฟุกุชิมะได้เร็วสุดในเดือนสิงหาคม ผู้เขียน เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์ข้อมูล The Guardian CGTN