วันพุธ, 6 ธันวาคม 2566

ฎีกาตัดสิน คุก “ธาริต” 2 ปี กลั่นแกล้ง “มาร์ค-สุเทพ”

คุมตัวเข้าเรือนจำ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีดีเอสไอ หลังศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปี คดีกลั่นแกล้งแจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งฆ่าประชาชนจากเหตุสลายม็อบ นปช.ปี 53 ถึงแม้เจ้าตัวจะพยายามซื้อเวลายื่นคำร้องเลื่อนฟังฎีกาอีกรอบแต่ไม่เป็นผล ศาลวินิจฉัยกระทำผิดตามฟ้อง ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้ทั้งคู่ได้รับโทษทางอาญาสนองความต้องการรัฐบาลใหม่และได้เป็นอธิบดีดีเอสไอต่ออีก 1 ปี ขณะที่ “วรรณพงษ์ คชรักษ์ ยุทธนา แพรดำ ปิยะ รักสกุล” จำเลย 2-4 ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ยกฟ้อง ด้าน “บิ๊กตู่” ปัดไม่เกี่ยวปม “ธาริต” ปูดยึดอำนาจตัดตอนคดีสลายม็อบแดงฎีกาตัดสินคุก 2 ปี “ธาริต เพ็งดิษฐ์” คดีกลั่นแกล้งแจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งฆ่าประชาชน เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 ก.ค. ที่ศาลอาญา ศาลนัดฟัง คำพิพากษาศาลฎีกาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชนในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีถึงชั้นฎีกานัดอ่านคำพิพากษา นายธาริตขอเลื่อนมารวม 9 นัด อ้างเหตุสารพัดนัดนี้ นายธาริตมาปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่ศาลอาญา พร้อมทำเอกสารแจกสื่อมวลชนที่รอทำข่าวความสรุปว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลอาญานัดอ่านในวันนี้จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมากดังที่ได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ค.66 เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ 1.จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ นายสุเทพและผู้ที่เกี่ยวข้องสั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ 2.ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตาย และ 3. นายธาริตกับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ดังนั้น จำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตนกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุดเอกสารนายธาริตระบุต่อว่า บัดนี้ได้รับทราบข้อมูลมาเป็นที่น่าเชื่อว่าในการทำคำพิพากษาของศาลฎีกายังไม่ได้อ่านคำพิพากษา และยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลยคือตนและญาติผู้ตายอยู่นั้น มีข้าราชการกลุ่มหนึ่งเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษา (กล่าวถึงประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกา) เกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. มีนายสุเทพ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้าหรือประธานกลุ่ม กปปส. โดยฝักใฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน ขณะนี้นายสุเทพกับพวก กปปส. ได้ยื่นฟ้องตนต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่าที่ตนดำเนินคดีกับนายสุเทพ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากกว่า 10 คนนั้น เป็นเพราะถูกตนกลั่นแกล้งจึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรมข้อความระบุอีกว่า ฉะนั้นเมื่อเวลา 08.30 น. ของวันนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้อง (กล่าวพาดพิงประธานศาลฎีกาคนก่อน) อีกจำนวนหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกาเพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ตนพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และตนอย่างแท้จริง และจากการที่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้ทำคำพิพากษาดังกล่าว ได้ยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องที่ตนขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามาตรา 157 และมาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้นั้น ตนร้องคัดค้านและโต้แย้งว่ากลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ตนเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นจะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวทุกฉบับไม่ได้ ตนร้องขอให้ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสั่งคำร้องทุกฉบับคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นกันนายธาริตยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่นายราเมศ รัตนะเชวง และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาดิสเครดิตตนว่าดำเนินคดีกับ นปช.ว่าผิด แล้วจะดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้อย่างไร เรื่องนี้ชี้แจงแล้วว่า คดีนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน กรณี นปช.ที่เข้าไปในเรดโซนมีความผิดก็ถูกดำเนินคดี ส่วนคนที่ใช้อำนาจ ศอฉ.สั่งให้เอาอาวุธไปยิงประชาชนในเรดโซนก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน นายราเมศและนิพิฎฐ์ เป็นผู้ใหญ่เป็นนักกฎหมายคนสำคัญของพรรค พูดแบบนี้ถือว่าโกหกและไม่เคารพการตาย 99 ศพและบาดเจ็บ 2 พันคน ใครกันแน่ที่เลอะเลือน ส่วนที่ศาลยกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพทั้ง 3 ศาล ก็ไม่ได้บอกว่าทั้ง 2 คนไม่ผิดในการสั่งยิง แต่บอกว่าให้ย้อนกลับไปไต่สวนสอบสวนที่ ป.ป.ช.ก่อนมาฟ้องศาลใหม่ ตรงนี้สำคัญมาก ไม่เคยมีศาลใดพิสูจน์เลยว่าทั้ง 2 คนสั่งทหารยิงประชาชนถูกต้องกระทั่งช่วงเที่ยง นายธาริต จำเลยที่ 1 ไม่เดินออกจากห้องพิจารณาเพื่อไปรับประทานอาหาร แต่ยังปรึกษาทนายความเคร่งเครียด เมื่อคิดบวกลบคูณหารแล้วยื่นคำร้องอีกฉบับขอให้ศาลฎีกาส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 200, 157 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพกลับมาเป็นปฏิเสธข้อกล่าวหาอีก ศาลอาญาส่งคำร้องทั้งหมดถึงศาลฎีกามีคำวินิจฉัย และนัดฟังคำสั่งในวันนี้กระทั่งเวลา 17.30 น. ศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคำร้องที่นายธาริตยื่นคำร้องต่อศาลฎีการวม 5 ฉบับ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งหมด นายธาริตต้องฟังคำพิพากษา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานเห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษโดยจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าตนและหน่วยงานไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลทั้ง 2 ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจหน้าที่สรุปสำนวนเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นข้อพิรุธ และในที่ประชุมเมื่อช่วง ธ.ค.55 จำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นชี้นำให้พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนหาหลักฐานและรวบรัดเชิญโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหา อีกทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อยู่ขั้วตรงข้ามการเมืองกับโจทก์ทั้งสอง ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญาสนองความต้องการของรัฐบาลใหม่ หลังจากนั้นนายธาริตได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 1 ปีพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังโดยปราศจากข้อสงสัย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องจริงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2-4 กระทำผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่ 1 และ 2 ยังไม่แน่ชัดและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2-4 ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ที่ทำสำนวนมาจากการรับคดีและการชี้นำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2-4 อาจทำคดีโดยสุจริต ยังมีข้อสงสัยในข้อกล่าวหาในคำฟ้อง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2-4 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2-4 ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง มีรายงานว่าระหว่างฟังคำพิพากษา นายธาริตมีสีหน้าเรียบเฉย จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เข้าควบคุมไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครวันเดียวกันที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ลาดปลาเค้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาระบุว่าสาเหตุที่มีการทำรัฐประหารเพื่อต้องการตัดตอนคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ว่า “เรื่องนี้ไม่ตอบ เป็นเรื่องของศาล ไปดูหลักฐานแล้วกัน ไม่เกี่ยวกับผม” เมื่อถามย้ำว่า นายธาริตอ้างว่าถูกบิ๊กทหารข่มขู่หากทำคดี 99 ศพ จะมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น นายกฯตอบว่า “ไม่เกี่ยวกับผม” เมื่อถามอีกว่า แต่มีการพาดพิงคณะปฏิวัติ นายกฯตอบว่า “ไม่เกี่ยวกับผม” พร้อมเดินออกจากวงสัมภาษณ์ เมื่อถามย้ำว่า นายธาริตกล่าวอ้างว่ามีการเชื่อมโยงกับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ตอบด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ว่า “เชื่อมโยงอย่างไร ก็ใครจะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ” เมื่อถามต่อว่า นี่ถือเป็นการดิสเครดิตใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไปคิดเอาเอง