วันอาทิตย์, 3 ธันวาคม 2566

โจ ไบเดน แวะกระชับสัมพันธ์อังกฤษก่อนคุยนาโต

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นครั้งแรกนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ ปราสาทวินด์เซอร์ เขตเบิร์กเชียร์ นอกกรุงลอนดอน อังกฤษ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 10 ก.ค. ในระหว่างการแวะเยือนอังกฤษเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนถึงการประชุมสุดยอดขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย วันที่ 11-12 ก.ค. เพื่อหารือถึงการเสริมความแข็งแกร่งให้กับแนวรบด้านตะวันออกของนาโต ปรับปรุงความสามารถการป้องปรามและป้องกันให้ทันสมัย การแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนต่อสู้กับรัสเซีย ไปจนถึงอนาคตของยูเครนกับนาโตประเด็นสำคัญในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ทรงมุ่งมั่นสนพระทัยปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนมาโดยตลอดคือการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีตัวแทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องหารือถึงแนวทางระดมทุนเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนหน้านี้ไบเดนเคยเข้าเฝ้ากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อครั้งดำรงพระยศเจ้าชายแห่งเวลส์ ที่การประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในปี 2564 ซึ่งพระองค์ตรัสกระตุ้นให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างเร่งด่วน รวมทั้งการประชุม G7 ในคอร์นวอลล์ อังกฤษ ในปีเดียวกันก่อนหน้านั้นในช่วงเช้าไบเดนเดินทางมายังบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิงสตรีท ทำเนียบนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือกับนายริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อย่างผ่อนคลายภายในสวน ผู้นำสหรัฐฯ ยังโชว์ความจำ ที่เฉียบคมสามารถระบุได้ว่าเคยพบปะพูดคุยกับนายซูแน็กตั้งแต่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย กรุงเบลฟาสต์ ของไอร์แลนด์เหนือ เมืองฮิโรชิมา ของญี่ปุ่น และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่สหรัฐฯ นับเป็นการพบกัน ครั้งที่ 5 ในเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ซูแน็กก้าวเป็นผู้นำ อังกฤษ ไบเดนพูดอย่างอารมณ์ดีว่าคงไม่สามารถพบกับเพื่อนสนิทบ่อยครั้งมากไปกว่านี้ได้อีกแล้ว เรามีเรื่องต้องคุยกันมากมาย ยังหยอดคำหวานว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาตินั้นแข็งแกร่งดั่งหินผาในการหารือเป็นเวลา 40 นาที แม้ผู้นำทั้ง 2 ชาติ อาจไม่ลงรอยกันในบางประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจส่งระเบิดพวงให้ยูเครน ทั้งที่เป็นอาวุธรุนแรงที่หลายชาติให้สัตยาบันไม่ใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอน รวมทั้งการพิจารณาสถานะสมาชิกนาโตของยูเครน อย่างไรก็ตาม ทั้งไบเดนและซูแน็กเห็นพ้องว่าเป็นเรื่องดีที่ทั้ง 2 ชาติ ได้สานต่อสิ่งที่เคยพูดคุยจากการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมาและตกลงจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อความมั่นคงในยูโร-แอตแลนติก เช่นเดียวกับการหารือในประเด็นพันธมิตรนาโต.