Friday, 13 September 2024

ห่วงเด็กเผชิญโรคจิตเวช ๔๐% ถูกแกล้ง แฉวัยรุ่นฆ่าตัวตายสาเหตุเสียชีวิตอันดับ ๓

เวทีอภิปราย “การผลักดันนโยบายด้านการเลี้ยงดูเด็กในประเทศไทย” จัดโดยมูลนิธิศานติวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆบนโลก ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เกิดในครอบครัวกลุ่มเปราะบาง ที่แม้หลายหน่วยงานจะวางมาตรการ จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อดูแล คุ้มครอง แต่เราก็ยังเห็นเด็กได้รับความรุนแรง ยังเห็นการส่งเสริมให้เด็กแข่งขันสอบเข้าสถานศึกษาตั้งแต่ประถม ยังเห็นการบริโภคนิยม ติดเกม อย่างไรก็ตาม เราต้องพัฒนาเด็กให้โตขึ้นเพื่อดูแลโลกได้ด้วย เพื่อสร้างสังคมของการดูแลซึ่งกันและกัน มีความสุขร่วมกัน และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเด็กไทย พบ ๑ ใน ๑๔ ของประชากรอายุ ๕-๙ ปี และ ๑ ใน ๗ ของประชากรอายุ ๑๐-๑๙ ปี กำลังเผชิญโรคทางจิตเวช เด็ก ๔๐% ถูกกลั่นแกล้ง มากกว่า ๖๐% เกิดเหตุที่ห้องเรียน โดยพบบ่อยในกลุ่ม LGBTQ+ ที่น่าห่วง ๑๗.๖% ในกลุ่มอายุ ๑๓-๑๗ ปีคิดตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยการฆ่าตัวตายถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ ๓ ของวัยรุ่น เด็ก มากกว่า ๑,๐๐๐ ราย เข้ารับการรักษาที่ รพ.เนื่องจากความรุนแรงใน ๑ ปี โดยการล่วงละเมิดทางเพศถือเป็นสาเหตุหลักในการเข้ารับการรักษา ซึ่งผู้กระทำมักเป็นคนที่เด็กไว้วางใจหรือคนในครอบครัว ทั้งนี้ การผลักดันนโยบายการเลี้ยงดูเด็กจำเป็นต้องวางกลไกทางกฎหมาย/สังคม วางโปรแกรมพัฒนาครอบครัว พ่อแม่/ผู้ดูแล และชุมชน สู่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมขณะที่ น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ดย.จัดทำคู่มือปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกันเพื่อการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กในภาวะเสี่ยง และเป็นเหยื่อจากการละเมิด ทอดทิ้งแสวงหาประโยชน์และความรุนแรง รวมถึงกรอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาเด็กให้มีวินัยเชิงบวก ปรับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก และการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม ทั้งนี้ ชุมชนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยดูแลคุ้มครองรวมถึงค้นหาคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง มีการตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กในชุมชน เพื่อคัดกรองเชิงรุกนำไปสู่การดูแลคุ้มครอง ตั้งเป้าจัดตั้งให้ครบทุกตำบลภายในปี ๒๕๖๘.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่