Saturday, 27 July 2024

อนุสาวรีย์มีชีวิต ของ “ผู้อำนวยการกำพล วัชรพล”

27 Dec 2023
81

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๑๐๔ ของ ผู้อำนวยการกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอันเป็นรากฐานของ “สื่อ” ต่างๆในเครือไทยรัฐกรุ๊ป โดยเฉพาะ “ไทยรัฐออนไลน์” และ “ไทยรัฐทีวี” ช่อง ๓๒ ที่พี่น้องประชาชนชาวไทยรู้จักคุ้นเคยกันอย่างดียิ่งในปัจจุบันนี้ไม่เพียงเท่านั้น ทุกๆวันที่ ๒๗ ธันวาคม นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ ซึ่งท่าน ผู้อำนวยการกำพลอายุครบ ๖๐ ปีเป็นต้นมา ท่านยังได้ก่อตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ เพื่อรับใช้สังคมไทยทั้งในด้านการศึกษาและการสื่อสารขึ้นด้วยอีกองค์กรหนึ่งจึงทำให้วันนี้เป็นคล้ายวันเกิดปีที่ ๔๔ ของ มูลนิธิไทยรัฐ ควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะการก่อตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ ผมถือว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดเหนือทรัพยากรอื่นใดของประเทศชาติยิ่งท่านตั้งเป้าหมายให้มูลนิธิแห่งนี้ ลงไปดูแลการพัฒนามนุษย์ในกลุ่มที่ประชาชนยากจนที่สุดของประเทศ และอาศัยอยู่ในเขตที่ล้าหลังที่สุดของประเทศ อันได้แก่ เขตชนบทต่างๆทั่วไทย ผมจึงให้ความสนใจและชื่นชมมาโดยตลอดดังที่ท่านผู้อ่านส่วนมากก็คงจะทราบแล้วว่าภาคชนบทไทยยังคงเป็นภาคที่ล้าหลัง และในบางส่วนของพื้นที่ชนบทยังอยู่ในภาวะยากจน เจ็บไข้ และ ขาดแคลนความรู้และการศึกษา เป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า “มูลนิธิไทยรัฐ” จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในชนบทเช่นนี้ ผมจึงเขียนแสดงความชื่นชมท่าน ผู้อำนวยการกำพล ในฐานะผู้ให้กำเนิดมูลนิธิไทยรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา “ความไม่รู้” ของเด็กๆในชนบท หลายต่อหลายครั้งในโอกาสต่างๆในสมุด “ไดอารีประจำปี ๒๕๖๗” ที่ ไทยรัฐกรุ๊ป จัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มีอุปการคุณในปีใหม่ปีนี้ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับโรงเรียน ไทยรัฐวิทยา พร้อมกับเปรียบเทียบโรงเรียนเหล่านี้ว่าเป็น “อนุสาวรีย์ที่มีชีวิตของนายกำพล”เป็นอนุสาวรีย์ที่จะช่วย “พัฒนาชีวิต” ของเด็กๆที่ล่อแหลมต่อการที่จะถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะความจนและความด้อยโอกาสกว่า ๒๒,๐๐๐ คน ให้มีความรู้ความสามารถที่จะต่อสู้ขวนขวายไปสู่ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคตผมอ่านแล้วก็เห็นด้วยกับบทความดังกล่าวนี้ เพราะ โรงเรียนไทยรัฐ นั้นก็คือ อนุสาวรีย์ ที่ ผู้อำนวยการกำพลมองการณ์ไกลสร้างไว้เพื่อให้แนวความคิดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบทของท่านบรรลุเป้าหมายนั่นเองในบทความของ “ไดอารีปี ๒๕๖๗” ของไทยรัฐยังระบุด้วยว่า คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ภรรยาของ ผู้อำนวยการกำพล วัชรพล ผู้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิไทยรัฐ ปัจจุบันรวมทั้งทายาทและผู้ร่วมงานของไทยรัฐกรุ๊ป ซึ่งได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน ผู้อำนวยการกำพล มาโดยตลอดล้วนให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าต่อไปเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน ผู้อำนวยการกำพล ด้วยการให้การอุปการะและดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๑๑ แห่งอย่างใกล้ชิด โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เด็กนักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนา ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัยจาก พ.ศ.๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิไทยรัฐมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยาอยู่ในความดูแลทั้งหมด ๑๑๑ แห่ง มีจำนวนห้องเรียน ๑,๒๕๘ ห้อง จำนวนครู ๑,๒๒๑ คน รวมนักเรียนทุกระดับ ๒๒,๘๙๘ คนล่าสุดก็ได้ร่วมกับ สพฐ.จัดให้มีการเรียนการสอนวิชาที่ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอื่นๆ ได้แก่ วิชา พลเมืองดี และ ความรอบรู้เรื่องสื่อมวลชน มาจนถึงปีปัจจุบัน (๒๕๖๖) ก็จัดให้มีการเรียนการสอนวิชา “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” เพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่งผมขอขอบคุณทุกๆฝ่ายอีกครั้งและมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า “อนุสาวรีย์ที่มีชีวิต” ของ ผู้อำนวยการกำพล อันได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๑๑ แห่ง และ มูลนิธิไทยรัฐ จะอยู่ยั้งยืนยงอย่างมีชีวิตและจิตวิญญาณในการพัฒนาเด็กไทยในชนบท ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไปในวันข้างหน้าจนกว่าการศึกษาไทยในชนบทจะดีขึ้นอันจะเป็นผลให้ชีวิตของ เด็กชนบทรุ่นใหม่ดีขึ้นดังที่ท่าน ผู้อำนวยการกำพลตั้งความหวังไว้.“ซูม”คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม