Saturday, 5 October 2024

ไขปริศนาฟันเม็กกาโลดอนในทะเลลึก

มีการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าเม็กกาโลดอน (Megalodon) เป็นฉลามในกลุ่ม Mackerel shark ขนาดยักษ์ เป็นสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มีชีวิตอยู่เมื่อ ๓.๖-๒๓ ล้านปีก่อน ที่ผ่านมามีการพบหลักฐานเกี่ยวกับฉลามชนิดนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลฟัน ฟันพวกนี้จะพบในหลายพื้นที่อย่างหาดทราย ยื่นออกมาจากฟอสซิลกระดูกวาฬ แต่ยังไม่เคยพบฟันเม็กกาโลดอนในบริเวณที่มันอาศัยอยู่ดั้งเดิมอย่างใต้ทะเลลึกล่าสุด ทีมนักสมุทรศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากสถาบันต่างๆในสหรัฐอเมริกา ที่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาจากพิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์แห่งรัฐบาวาเรียในเยอรมนี เผยว่าได้พบซี่ฟันเม็กกาโลดอนโดยบังเอิญ ขณะที่อยู่บนเรือนอกชายฝั่งจอห์นสัน อะทอลล์ ในมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังสำรวจพื้นมหาสมุทรโดยใช้หุ่นยนต์ใต้น้ำที่ควบคุมจากระยะไกล ทีมบังเอิญสังเกตเห็นฟันที่ยื่นออกมาจากพื้นทรายใต้สมุทร หลังจากถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอฟันดังกล่าวแล้ว ก็ให้หุ่นยนต์ดึงฟันออก หลังจากศึกษาฟันเหล่านั้นในห้องปฏิบัติการทดลองก็พบว่า ฟันอยู่ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์ โดยเฉพาะขอบฟันที่มีลักษณะเหมือนหยักเลื่อยทีมนำเสนอว่าการที่ฟันสามารถคงอยู่ในตำแหน่งเดิมบนพื้นทะเลได้นั้น เพราะมหาสมุทรมีกระแสน้ำแรง ป้องกันการสะสมตัวของตะกอน และยังป้องกันไม่ให้ตะกอนกัดกร่อนลักษณะของฟันอีกด้วย และยังสังเกตว่าฟันไม่ได้มาจากฉลามตัวใหญ่เป็นพิเศษ เพราะขนาดยาวเพียง ๖๓-๖๘ มิลลิเมตร ซึ่งตำแหน่งที่พบฟันฉลามเม็กกาโลดอนนี้ สามารถช่วยให้นักมหาสมุทรศาสตร์เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ทะเลโบราณได้.Credit : Historical Biology (๒๐๒๓). DOI: ๑๐.๑๐๘๐/๐๘๙๑๒๙๖๓.๒๐๒๓.๒๒๙๑๗๗๑อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่