Sunday, 15 September 2024

"พีระพันธ์ุ" ตอกกลับ "ก้าวไกล" ปม ลดค่าไฟ ทำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีปัญหาการเงิน ยันไม่จริง

รัฐมนตรีว่าการพลังงาน กางข้อมูลโต้กลับ “ก้าวไกล” อภิปรายงบฯ ปี ๖๗ ยัน ไม่จริง กล่าวหารัฐบาลลดค่าไฟฟ้า ทำให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีปัญหาการเงิน ซัด เอาข้อมูลคาดการณ์มา ตัวเลขผิดหมด สงสัยไม่นำข้อมูลประชาชนที่รัฐบาลทำสำเร็จมาอภิปรายวันที่ ๕ ม.ค. ๒๕๖๗ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค – Pirapan Salirathavibhaga ชี้แจงหลังถูกพรรคฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงข้อมูลที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ มีรายละเอียดดังนี้วันนี้ติดภารกิจตลอดทั้งวัน เพิ่งมีโอกาสได้สรุปข้อเท็จจริงช่วงหัวค่ำเมื่อวันที่ ๓ ม.ค. ๖๖ ท่านศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณ ปี ๒๕๖๗ พาดพิงเรื่องที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนว่า ทำให้เป็นปัญหาการเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)น่าแปลกที่เรื่องเดียวกันท่านกลับเลือกพูดเรื่องปัญหาการเงินของ กฟผ. แทนที่จะพูดเรื่องประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั้งประเทศที่ผมและรัฐบาลนี้ทำสำเร็จท่านบอกว่า กฟผ. มีสถานะเงินสดต่ำมากจนน่าเป็นห่วง โดยมีแนวโน้มตามกราฟิกที่นำมาแสดงว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๗ กฟผ. จะมีกระแสเงินสดเหลือเพียง ๓๙,๒๓๔ ล้านบาท และลดลงเรื่อยๆ ถึงขั้นมีกระแสเงินสดเหลือแค่ ๑๐,๐๐๐ กว่าล้านบาท โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม ๒๕๖๗ จะไปถึงขั้นกระแสเงินสดติดลบเอาเลย แถมยังมีหนี้สินที่ต้องชำระให้ ปตท. อีกหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่จะต้องส่งรายได้ให้รัฐอีกปีละหลายหมื่นล้าน โดยปี ๒๕๖๖ กฟผ. ต้องนำรายได้ส่งรัฐ ๑๗,๑๔๒ ล้านบาท และปี ๒๕๖๗ ที่จะติดลบกระแสเงินสดด้วยนี้ กฟผ. กลับจะต้องนำส่งรายได้ให้รัฐถึง ๒๘,๓๘๖ ล้านบาท สูงกว่าปี ๖๖ ถึง ๖๕% แล้วจะทำอย่างไรฟังแล้วน่าตกใจว่า รัฐไปยัดปัญหาให้ กฟผ. เพิ่มทำไม ประชาชนทางบ้านและสื่อมวลชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก็จะตกใจตามไปด้วยผมก็ตกใจครับ ไม่ได้ตกใจในข้อมูลและตัวเลขที่ท่านพูด แต่ตกใจว่า ทำไมท่านเลือกเอาข้อมูลที่เป็นเพียง “ข้อมูลคาดการณ์” ที่ทำล่วงหน้าก่อนของจริงตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๖๖ ปีที่แล้วมาพูด แทนที่จะเอา “ข้อมูลจริง” ที่ “เกิดขึ้นจริง” ณ เวลานี้ มาพูดขอเรียนตามนี้ครับ๑) ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่ผมนำมานั้น มาจากรองผู้ว่าการ กฟผ. ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่ให้ข้อมูลผมตอนที่จะนำงบการเงินปี ๒๕๖๔ -๒๕๖๕ ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ ๒ ม.ค. ๖๗ และอีกครั้งก่อนที่ผมจะตอบชี้แจงเมื่อคืน จึงเชื่อถือได้ว่าเป็น “ข้อมูลจริง” แต่ถ้าท่านไม่เชื่อคงต้องไปเถียงกับ กฟผ. เอาเองนะครับ๒) “ข้อมูลคาดการณ์” ที่ท่าน สส. ศุภโชติ แห่งพรรคก้าวไกล นำมาพูดนั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๖๖ ก่อนมี “ข้อมูลจริง” ณ ปัจจุบัน ดังนี้(ก) ตารางหรือกราฟที่ท่าน สส. ศุภโชติ นำมาใช้นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์เพื่อแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น และมิได้แปลว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เพราะ กฟผ. จะต้องบริหารจัดการมิให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม กฟผ. ก็ต้องประมาณการแบบ “ร้าย” หรือแบบ worst case scenario ไว้ก่อน และตารางหรือกราฟนั้นก็เป็นเพียงเอกสารภายในที่ใช้เพื่อชี้แจงพนักงานของ กฟผ. ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลจริงในการบริหาร และไม่อาจใช้อ้างอิงได้ เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจริง(ข) มีปัจจัยที่เป็น “ข้อมูลจริง” อื่นๆ ที่ทำให้ กฟผ. มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตามตารางที่นำมาแสดงอีกประมาณเกือบ ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท เช่น กำไรจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านบาท กำไรจากการรับงานภายนอกองค์กรประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ ๒,๖๐๐ ล้านบาท ต้นทุนลดลงจากการบริหารจัดการประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท และกำไรจากรายได้อื่นๆ ประมาณ ๒,๑๐๐ ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ ณ สิ้นปี ๒๕๖๖ กฟผ. มีเงินสดคงเหลือจริงประมาณ ๙๑,๐๐๐ ล้านบาท ไม่ใช่ ๖๓,๖๒๓.๖ ล้านบาท ตามที่ปรากฏในตารางคาดการณ์ที่นำมาแสดง(ค) อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนตามการคาดการณ์ในตารางจะอยู่ที่ ๓.๙๙ บาท / หน่วย ตลอดปี ๒๕๖๗ และคาดการณ์ว่าเป็นภาระของ กฟผ. เองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ “ข้อมูลจริง” ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่าง ๔.๑๕ ถึง ๔.๒๐ บาท / หน่วย ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๗ ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ ๓๐๐ หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ ๓.๙๙ บาท / หน่วยนั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ ๑,๙๙๕ ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง(ง) การแบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงทั้งสองครั้งนี้ ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” เป็นการคาดการณ์ว่า กฟผ. จะเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ตาม “ข้อมูลจริง” รัฐบาลมีการบริหารจัดการและช่วยดำเนินการในหลายรูปแบบ โดยในครั้งนี้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้ กกพ. เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ รวมทั้งใช้เงินงบกลางเข้ามาช่วยลดภาระ กฟผ. ด้วยข้อมูลใน (ค) และ (ง) นี้ก็ไม่ปรากฏในตารางที่เป็น “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูด เพราะในเวลาที่ทำตารางเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ นั้น “ข้อมูลจริง” นี้ ยังไม่เกิดขึ้น๓) จากสถานะการเงินที่เป็น “ข้อมูลจริง” ณ สิ้นปี ๒๕๖๖ กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ ๙๑,๐๐๐ ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนมกราคม ๒๕๖๗ เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง ๓๙,๒๓๔ ล้านบาท ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง๔) มาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. จะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที และที่ผ่านมา กฟผ. ก็ดำเนินการตามนี้จึงเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริงที่สถานะการเงินจริงของ กฟผ. ในปี ๒๕๖๗ จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นติดลบในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม ๒๕๖๗ ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง๕) ตาม “ข้อมูลจริง” นั้น กฟผ. ชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท. หมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม ๒๕๖๖ สำหรับปี ๒๕๖๖ ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. โดยมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา ณ วันนี้ กฟผ. จึงไม่มีหนี้สินอะไรกับ ปตท. อีก๖) การส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ. กำหนดมาตรฐานไว้ที่ประมาณ ๕๐% ของกำไรในแต่ละปี สำหรับปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในปี ๒๕๖๖ ว่า กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐ ๑๗,๑๔๒ ล้านบาท แต่ตาม “ข้อมูลจริง” กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐสำหรับปี ๒๕๖๖ นี้ประมาณ ๒๔,๐๐๐ ล้านบาท ไม่ใช่ ๑๗,๑๔๒ ล้านบาท ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูด ข้อมูลที่นำมาพูดจึงผิดไปจากความจริงที่เป็น “ข้อมูลจริง” ถึง ๒๘.๕๗๕% และนี้ยังแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่า “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า๗) สำหรับปี ๒๕๖๗ ล่าสุด กฟผ. คาดการณ์ว่าจะนำส่งเงินรายได้ประจำปี ๒๕๖๗ ให้รัฐประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ลดลงจากปี ๒๕๖๖ ประมาณ ๑๖.๖๖๖๖% ไม่ใช่จะนำส่งรายได้เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๖ ถึง ๖๕% จาก ๑๗,๑๔๒ ล้านบาท เป็น ๒๘,๓๘๖ ล้านบาท ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูดอีกเช่นกัน แต่ไม่แน่นะครับ เอาเข้าจริง กฟผ. อาจสามารถบริหารจัดการให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นเดียวกับปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมานี้ได้อีก ก็เป็นไปได้นะครับ