Friday, 20 September 2024

ศปถ.สรุปอุบัติเหตุ ๗ วันอันตรายปีงูใหญ่ เสียชีวิต ๒๘๔ ลดลงจากปีที่แล้ว

ศปถ. สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่ ๖๗ ช่วง ๗ วันของการรณรงค์ลดเกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๒๘๘ ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม ๒,๓๐๗ ราย ผู้เสียชีวิตรวม ๒๘๔ ราย จังหวัดผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (๘๙ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กทม. (๑๙ ราย) ตัวเลขลดลงจากปีที่แล้ว วันที่ ๕ ม.ค. ๖๗ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ ประจำวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๗ เกิดอุบัติเหตุ ๒๐๐ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๐๕ คน ผู้เสียชีวิต ๑๗ รายสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๗ วันของการรณรงค์ (๒๙ ธ.ค. ๖๖-๔ ม.ค. ๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๒๘๘ ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม ๒,๓๐๗ ราย ผู้เสียชีวิตรวม ๒๘๔ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๑๑ จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้ประสานจังหวัด องค์กร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน พาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี พร้อมถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อปรับปรุงและพัฒนามาตรการและการดำเนินงานสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๗ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ ๒๐๐ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ๒๐๕ คน ผู้เสียชีวิต ๑๗ ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ ๔๘.๕ ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ ๒๒ และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ ๑๔ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๘.๗๒ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ ๘๕ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๔๒.๕ ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ ๓๐.๕ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา ๐๗.๐๑-๐๘.๐๐ น. ร้อยละ ๘ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ ๔๐-๔๙ ปี ร้อยละ ๑๕.๗๗ จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๑,๗๘๕ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๕๑,๔๓๓ คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตาก (๑๒ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตาก (๑๕ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ดและสุพรรณบุรี (จังหวัดละ ๓ ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๗ วันของการรณรงค์ (๒๙ ธ.ค. ๖๖-๔ มกราคม ๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๒๘๘ ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม ๒,๓๐๗ คน ผู้เสียชีวิต รวม ๒๘๔ ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (๘๒ ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (๘๙ คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (๑๙ ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๑๑ จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ตาก นครนายก ปัตตานี พิจิตร แม่ฮ่องสอน สตูล สมุทรสงคราม อำนาจเจริญนายโชตินรินทร์ เกิดสม กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีจำนวนครั้งการเกิดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลงจากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการทำงานในระดับพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการช่วยป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความร่วมมือของประชาชนในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๗ แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ประสานจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เขต (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำ ตักเตือน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก อาทิ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ขับรถย้อนศร และการไม่สวมหมวกนิรภัย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยนายไชยวัฒน์  จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก พร้อมถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบททางสังคม เพื่อเสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบและเข้มแข็ง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนในการทำงานมาปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนของประเทศให้เหลือ ๑๒ คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ.๒๕๗๐ ท้ายนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.๒๕๖๗ ด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน และเข้มแข็ง