Thursday, 5 December 2024

บูลลี่เพื่อนในโรงเรียน ภัยร้ายผู้ใหญ่มองข้าม!

19 Feb 2024
107

สังคมไทยยังสะเทือนใจ “นักเรียนชาย ม.๒” ก่อเหตุใช้มีดแทงเพื่อนจนเสียชีวิตในโรงเรียนย่านสวนหลวง กทม. “ปมถูกกลั่นแกล้งและไถเงินเป็นประจำ” กลายเป็นภาพสะท้อนผลพ่วงปัญหาการบูลลี่ (Bully) ข่มเหงรังแกกันในสถานศึกษา นับวันยิ่งก่อความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุปัจจัยมีตั้งแต่ “การจัดการอารมณ์ ความโกรธ ใจร้อนคุมตัวเองไม่ได้” โดยเฉพาะกลุ่มเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม “บวกกับเสพสื่อความรุนแรงกระตุ้นซึมซับ” เมื่อต้องมาเจอถูกกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่องนำไปสู่ “การก่อเหตุร้ายนั้น” ทำให้ต้องมาถอดบทเรียนพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กในโรงเรียนดร.สุพัทธ แสนแจ่มใส นักจิตวิทยาเด็กและอาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล บอกว่า ความรุนแรงในเด็กเกิดขึ้นทุกสมัย แล้วยิ่งปัจจุบันเด็กมักอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เติบโตในครอบครัวใช้ความรุนแรง หรือครอบครัวแตกแยกถูกทอดทิ้งไม่ได้รับความรักเอาใจใส่เท่าที่ควรทั้งยังถูกกระตุ้นด้วย “สื่อ” โดยเฉพาะสื่อออนไลน์มักมีเนื้อหาใช้ความรุนแรง “หล่อหลอมเด็กจนเคยชิน” ทำให้ไม่รู้สึกผิดที่ใช้ความรุนแรงบวกกับ “ภาวะทางร่างกาย” ในกลุ่มกำลังเข้าสู่วัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนส่งผลให้หงุดหงิดง่าย อารมณ์อ่อนไหวไม่มีสาเหตุ และอยากลองอยากรู้ในสิ่งใหม่สิ่งนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบ “สารตั้งต้นพื้นฐานด้านจิตใจในวัยเด็ก” เมื่อสะสมถึงจุดอิ่มตัวแล้วถูกกระตุ้นซ้ำจาก “เพื่อนบูลลี่ ล้อเลียน กลั่นแกล้ง” กลายเป็นชนวนเร่งก่อให้เกิดการระเบิดอารมณ์ความโกรธสู่การแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมาจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้สำหรับในเชิงจิตวิทยา “เด็กถูกบูลลี่” มักมีปฏิกิริยาการตอบสนองแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก…“เก็บกดอารมณ์ไว้ในใจ” เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งถูกรังแกจะเก็บเรื่องราวด้านลบไว้ “พออดทนข่มความโกรธไม่ไหวก็จะระเบิดออกมา” หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ เหมือนดั่งกาต้มร้อนถ้าเจออุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง ด็อกเตอร์สุพัทธ แสนแจ่มใสท้ายที่สุดในวันหนึ่ง “น้ำร้อนในกาก็ต้องปะทุระเบิดฝาออกมา” ลักษณะเปรียบเปรยดั่งเด็กที่ต้องถูกบูลลี่เป็นประจำนานๆ ย่อมมีการเก็บกดความโกรธแค้นไว้ในใจอยู่ตลอด “เมื่อทนไม่ไหวก็ระเบิดอารมณ์” โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มักแสดงออกมาในรูปแบบการก่อเหตุใช้ความรุนแรงได้ง่ายทำให้ไม่แปลกใจว่า “เด็กบางคนเรียบร้อยเก็บตัวไม่สุงสิงใคร” เมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแกไม่มีวี่แววใช้ความรุนแรงด้วยซ้ำ “แต่การไม่สุงสิงใครนั้นกลับกำลังสะสมความโกรธแค้นเกลียดชัง ที่รอวันระบาย” ฉะนั้นกรณีนักเรียนทำร้ายเพื่อนเสียชีวิตส่วนใหญ่มีประเด็นบางอย่างก่อให้เกิดความคับแค้นสะสมมานานต่อเนื่องตอกย้ำกลายเป็น “บาดแผลฝังในใจ” สุดท้ายควบคุมอารมณ์ไม่ไหว จำเป็นต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรงทำร้ายบุคคลนั้น “มิใช่เป็นเหตุถูกกลั่นแกล้งเฉพาะหน้าเพิ่งเกิดแน่” แล้วบางกรณียังมีการกลั่นแกล้งลักษณะเชิงรูปแบบ “กลุ่มแก๊ง” อันมีหัวโจกเป็นผู้กระทำจนเด็กถูกรังแกสะสมเป็นความเครียดทนไม่ไหวกระทั่งตัดสินใจ “เตรียมอาวุธมาก่อเหตุเหมายกแก๊ง” ถ้าเจอสมาชิกคนใดก่อนก็ลงมือกับคนนั้น แต่เหตุลักษณะนี้ส่วนใหญ่เกิดในต่างประเทศ “กรณีคนร้ายกราดยิงในโรงเรียน” จากความโกรธแค้นที่ถูกบูลลี่นั้น กลุ่มที่สอง…“ระบายตอบโต้ทันที” ด้วยเด็กบางคนหากต้องเผชิญการถูกกลั่นแกล้งรังแกมักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการต่อว่าดุด่า หรือใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับแบบฉับพลัน “ข้อดีเป็นวิธีปลดปล่อยความโกรธ” ทำให้เด็กกลุ่มนี้มักจะไม่เก็บกด จนเป็นการพัฒนาไปสู่การล้างแค้นที่รุนแรงตามมาภายหลังได้กลุ่มที่สาม…“รู้วิเคราะห์เหตุบูลลี่” ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กถูกเลี้ยงดูในครอบครัว มีความรักเอาใจใส่จนมีเกราะป้องกันการควบคุมตัวเอง ทั้งรู้จักหยุดคิดไตร่ตรองอดทนอดกลั้นการถูกบูลลี่ได้ดี “มีวิธีขจัดปัญหาอย่างสร้างสรรค์” ด้วยการออกกำลังกาย ฟังเพลง ดูหนัง อันเป็นกิจกรรมช่วยให้หลุดพ้นจากการหมกมุ่นสิ่งที่ถูกกระทำนั่นในทางกลับกัน “เด็กชอบบูลลี่ผู้อื่น” ถ้าย้อนดูประวัติมักเคยตกเป็นเหยื่อถูกกระทำมาก่อน “กลายเป็นประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก” โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่ใส่ใจ ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม “เด็กจะมีความโดดเดี่ยว” นำไปสู่การกลั่นแกล้งผู้อื่นได้ เพื่อต้องการได้รับความสนใจ และยังช่วยให้รู้สึกมีอำนาจมากขึ้นดังนั้น ช่วงวัยแรกเกิดจนถึง ๒ ขวบ “ครอบครัวต้องให้ความรักต่อเด็กมากที่สุด” เพื่อเขาจะมีความรู้สึกว่า “โลกใบนี้ปลอดภัยน่าอยู่และมีคนที่ไว้ใจ” ทำให้เด็กเติบโตแบบมีภูมิคุ้มกันไม่ไปทำร้ายคนอื่นแต่ในขณะที่ “เด็กเติบโตในครอบครัวเลวร้าย” ด้วยพ่อแม่ปฏิเสธให้การดูแลเอาใจใส่ แถมยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง “กระทบต่อกรอบความคิดมองโลกในแง่ร้าย” กลายเป็นเติบโตมาท่ามกลางความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจใคร แล้วยังมองว่าคนอื่นจ้องจะเอาเปรียบอยู่เสมอ กลายเป็นพฤติกรรมสะสมเข้าสู่ “วัยอายุ ๑๓-๑๕ ปี” ก็มีโอกาสเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้าง “บางคนชอบใช้ความรุนแรงระบายอารมณ์ความโกรธไปที่สัตว์เลี้ยง” เริ่มมีบุคลิกภาพต่อต้าน ชอบแหกกฎเมินเฉยต่อระเบียบสังคม เช่น ขโมยของ ชอบพูดโกหก หรือชอบกลั่นแกล้งเพื่อนตามมาได้จริงๆแล้ว “ภูมิคุ้มกันทางใจต่อการถูกกลั่นแกล้งทำได้ไม่ยาก” ด้วยเริ่มจากครอบครัวสามารถเสริมทักษะเบื้องต้นตั้งแต่ “วัยเด็ก” เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้รู้วิธีการจัดการทนทานต่อ “การบูลลี่” แล้วในทางจิตวิทยามักมีหลักการเสริมเกราะป้องกันทางใจ แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นสำคัญขั้นแรก…“รู้จักอารมณ์ตัวเองก่อน” ด้วยเทคนิคง่ายๆ อย่างเช่นนำลูกไปวิ่งออกกำลังกายให้รู้สึกเหนื่อยล้าแล้วอารมณ์โกรธ ท้อแท้ ไม่พอใจ หงุดหงิด ก็จะแสดงออกมา เป็นการสอนทักษะให้รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองขั้นที่สอง…“ควบคุมอารมณ์” เมื่อรู้เท่าทันก็ต้องเก็บอารมณ์แล้วแก้ไขในทางที่เหมาะสม เช่น ทำกิจกรรมที่ชอบ ออกกำลังกาย รดน้ำต้นไม้ ปรึกษาคนอื่น หรือกิจกรรมที่ช่วยลดความโกรธนั้น สุดท้าย…“ผ่อนคลายอารมณ์” ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ คุยกับเพื่อน ล้วนเป็นเทคนิคสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ สามารถนำมาใช้ได้เช่นกันเท่านั้นไม่พอ “โรงเรียนต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กห่างไกลบูลลี่” ด้วยการช่วยเหลือให้นักเรียนทุกคนมีความรู้สึกว่า “ตัวเองมีคุณค่ามีความสามารถ” เพราะเมื่อใดก็ตามที่เด็กรับรู้ถึงศักยภาพการสร้างประโยชน์ให้คนรอบข้าง รวมถึงมีคนอื่นเห็นค่าย่อมทำให้จิตใจมั่นคงไม่กระเพื่อมไปกับการถูกล้อเลียนนั้น เรื่องนี้เป็นเกราะป้องกันให้ “เด็กไม่คล้อยตามกับคำตำหนิถูกกลั่นแกล้ง” นอกจากนี้ ครูยังต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคน “เพื่อไม่ทิ้งให้ต้องโดดเดี่ยว” เพราะเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการถูกบูลลี่ได้ง่ายแล้วหากมีการบูลลี่กันเกิดขึ้น “ครู” ต้องช่วยเหลือทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะบางครั้งคนกระทำนั้นอาจมีปัญหาเบื้องหลังบางอย่าง “ทำให้เกิดพฤติกรรมรังแกเพื่อน” หากลงโทษเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง “พฤติกรรมเป็นปัญหาก็จะยังคงอยู่” ในส่วนฝ่ายที่ถูกกระทำก็ควรได้รับการช่วยเหลือทางด้านจิตใจต่อไปอย่างไรก็ดี เข้าใจว่า “หน้าที่ครูค่อนข้างเยอะ” แล้วที่ผ่านมามักใช้ครูแนะแนวทำหน้าที่เสมือนนักจิตวิทยา และต้องทำงานการสอนควบคู่กันไป ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ “รัฐบาล” ควรมีอัตราการบรรจุนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลด้านจิตใจนักเรียนโดยเฉพาะ เพื่อตรวจวินิจฉัยช่วยบำบัดอย่างถูกวิธีดีที่สุดย้ำข้อสำคัญการตัดตอน “พฤติกรรมบูลลี่ และความรุนแรงในกลุ่มเด็ก” ครอบครัวต้องเอาใจใส่ลูกให้เติบโตท่ามกลางความรู้สึกว่า “เขามีความปลอดภัย พอใจในชีวิต และเป็นที่รักของทุกคน” เมื่อชีวิตสมบูรณ์แบบนี้ คงไม่จำเป็นต้องทับถม ดูถูกเหยียดหยาม และกลั่นแกล้งรังแกใคร…คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม