Monday, 16 September 2024

“ก้าวไกล” รับหลักการ ร่างพ.ร.ก.ประมงทุกฉบับ “พิธา” โวร่างฯ พรรค เน้นท้องถิ่น

“ก้าวไกล” รับหลักการ ร่าง พ.ร.ก.ประมงทุกฉบับ “พิธา” ชี้ร่างฯ ก้าวไกล เน้นท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรทางทะเล ฝากรัฐบาลมองวิสัยทัศน์ประมงในอนาคต ต้องพัฒนาเศรษฐกิจ คู่ รักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มเทคโนโลยียกระดับวิถีชีวิตชาวประมงวันที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๖๗ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการนำร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้ง ๗ ฉบับที่เสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ขอนำร่างฯ ทั้ง ๗ ฉบับไปศึกษาอีก ๑๕ วัน ก่อนจะเสนอร่างของคณะรัฐมนตรีประกบเข้ามาสู่การพิจารณาร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ รวมเป็น ๘ ฉบับ โดยในวาระนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันอภิปรายเพื่อสนับสนุนหลักการสำคัญของทุกร่างฯ ให้ผ่านวาระที่ ๑ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาต่อไปนายพิธา ระบุว่า ตนขอเริ่มต้นด้วยการเตือนสติสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมวันนี้ว่า พ.ร.ก.ประมงประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘ ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว สภาฯ ถึงเพิ่งจะได้เริ่มอภิปรายร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ก่อนสมัยสภาฯ จะสิ้นสุดลงจนทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปรอบหนึ่งแล้ว แสดงให้เห็นถึงแรงเฉื่อยของสภาฯ แห่งนี้ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนเตือนสติกันอีกครั้งว่า ในปี ๒๕๕๘ ที่มีการออก พ.ร.ก.ประมง กฎหมายและระเบียบของสหภาพยุโรปมีสถานะเป็นเพียงกฎหมายภายในภูมิภาค ที่สมาชิกสหภาพยุโรปจะต้องปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ประเทศไทยกลับต้องปฏิบัติตามด้วย เพราะมิฉะนั้นจะไม่สามารถส่งสินค้าประมงไปขายสหภาพยุโรปได้และเตือนสติกันอีกครั้งหนึ่ง ว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าประมงราว ๒ แสนล้านบาทต่อปี แต่ส่งออกไปยุโรปแค่ร้อยละ ๖.๗ เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับกรรมคือชาวประมงทุกคนไม่ว่าจะส่งออกไปยุโรปหรือไม่ นี่คือความอยุติธรรมตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา วันนี้จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนจากทุกพรรคจะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ ตั้งกรรมาธิการ และผ่านกฎหมายโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นายพิธา กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบของอุตสาหกรรมประมง ที่เกิดขึ้นนั้นหนักและยาวนานมาก ระหว่างปี ๒๕๖๐-๒๕๖๖ การส่งออกสินค้าทางการประมงลดลงไปร้อยละ ๑๑ โดยต้องไม่ลืมว่า การส่งออกไม่ได้มีแค่การจับปลา แต่ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ว่า จะเป็นท่าเรือ สะพานปลา การขนส่ง รวมถึงโรงงานน้ำแข็ง ตัวเลขที่หายไปสะท้อนความซบเซาผ่านจำนวนผู้ซื้อปลา-แพปลา จาก ๒,๐๐๖ เที่ยวต่อวันในปี ๒๕๕๘ ลดลงเหลือเพียง ๑,๕๙๗ เที่ยวต่อวันในปี ๒๕๖๔ หรือหายไปร้อยละ ๒๕ ยังไม่รวมอุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเค็มที่หายไปอีกร้อยละ ๒๔ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่ในแง่ของเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ชาวประมงกว่า ๔,๖๓๒ คนต้องกลายเป็นผู้ต้องหา ต้องรับโทษปรับ จำคุก เล่นกันจนถึงขนาดบีบให้ชาวประมงต้องขายเรือไปเป็นจำนวนมากการปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักการ IUU Fishing ไม่ใช่ปัญหา แต่รัฐบาลต้องให้โอกาสชาวประมงในการปรับตัวด้วย ไม่ใช่ปรับจนล้มละลาย มีกฎหมายแล้วก็ต้องมีระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน และมีกองทุนประมงที่ทำให้เขาสามารถปรับตัวได้ แน่นอนว่ากฎหมายต้องทำให้ถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์ แต่มันได้สัดส่วนหรือไม่กับอาชญากรรมที่เขาก่อ“เพราะฉะนั้นถ้ามีกฎหมายที่เข้มแข็ง ไม่เป็นอำนาจนิยมมากเกินไป และมีส่วนร่วมจากชาวประมง ชาวประมงก็จะไม่ต่อต้านหรือไม่ต้องเจ็บปวดขนาดนี้ กระบวนการในการปรับ ปรับไปในทิศทางหนึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ความเร็วในการบังคับใช้ก็ต้องค่อยๆ ปรับตัว ไม่ใช่การที่รัฐออกกฎหมายมาทุ่มใส่ชาวประมงอย่างเดียว แต่รัฐต้องทุ่มความช่วยเหลือและงบประมาณให้ชาวประมงสามารถที่จะลืมตาอ้าปากและปรับตัวไปได้ด้วย” พิธากล่าว…นายพิธา กล่าวต่อไปว่า นี่คือการเดินทางร่วมกันของรัฐและชาวประมงอย่างมีส่วนร่วม ตนจึงขอเรียกร้องให้สภาฯ แห่งนี้ นอกจากจะรับหลักการร่างฯ ของ คณะรัฐมนตรีและพรรคอื่นๆ แล้ว ยังอยากให้รวมร่างของพรรคก้าวไกลเข้าไปพิจารณาด้วย เพราะร่างฯ ของพรรคก้าวไกลเชื่อในการส่งเสริมศักยภาพของชาวประมง การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในระยะยาว และเน้นให้ท้องถิ่นดูแลทรัพยากรของตัวเอง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนนอกจากนี้ ร่างฯ ของพรรคก้าวไกลจะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการประมงจังหวัด” ที่จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการประมงตามความเหมาะสมของพื้นที่ ไม่ใช่การตัดเสื้อตัวเดียวเป็นเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนกัน เช่น สามารถขยายขอบเขตการทำประมงและการอนุรักษ์เป็น ๑๒ ไมล์ทะเลได้ ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการประมงจังหวัดจะต้องมีสัดส่วนจากภาคประชาชนไม่น้อยกว่า ๔ คน โดยให้ประธานเป็นนายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตำแหน่ง และให้มีตัวแทนจากเทศบาลและ อบต.ด้วยนายพิธากล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญอีกประการที่จะขาดไม่ได้ ก็คือวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการประมงของประเทศไทย ที่ตนขอให้คณะกรรมาธิการ คณะรัฐมนตรี และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคำนึงถึง ๓ หลักการสำคัญ กล่าวคือ๑) การรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรประมง ต้องนึกถึงคำว่า “Blue Economy” หรือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเปลี่ยนหลักคิดจาก “จับมากได้น้อย” เป็น “จับน้อยได้มาก”๒) วิถีชีวิตชาวประมง ต้องเปลี่ยนจากการใช้กฎหมายบีบบังคับเป็นการเพิ่มเทคโนโลยีให้ชาวประมง โดยคิดถึงเรื่อง “Precision Fishery” เช่น ออกแบบอวนที่มีช่องให้สัตว์น้ำอนุบาลสามารถลอดออกไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังคำนึงถึง๓) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพการประมง (Marine Biotechnology) ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าประมง มากกว่าจะเป็นเพียงแค่การทำประมงในพื้นที่ทางทะเล ซึ่งมีความเป็นไปได้มากมายที่รอเราอยู่“เพียงแต่เราจำคีย์เวิร์ด ๓ คำนี้ไว้ ก็จะสามารถเห็นได้ว่าอีก ๑๐ ปี ข้างหน้า การประมงของประเทศไทยหน้าตาจะเป็นแบบใด ที่มีทั้งสมดุลในเรื่องของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมง และที่สำคัญ คือ การทำให้การประมงเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยต่อไปชั่วนิรันดร” นายพิธา กล่าว…