วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

ปฏิรูปโมเดลเศรษฐกิจใหม่หมด กุญแจสู่เจ้านวัตกรรมโลกของจีน

03 มี.ค. 2024
40

“ประเทศจีน” ถือเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คิดเป็นสัดส่วน ๑๖% ของจีดีพีโลก และมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากเป็นอันดับหนึ่งในโลกพูดถึงภาพรวมใหญ่ รัฐบาลจีนได้วางแนวทางนโยบายเศรษฐกิจไว้อย่างชัดเจน มุ่งเน้นไปที่การมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจระดับมหภาค มีนโยบายเศรษฐกิจจุลภาคที่ยืดหยุ่น และไม่หลงลืมที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชากร โดยดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๔ เพื่อยกระดับความมี “คุณภาพ” ในด้านเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, ระบบนิเวศ, สิ่งแวดล้อม, วัฒนธรรม, การศึกษา ตลอดจนถึงคุณภาพชีวิตประชากรทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาว “แผน ๑๕ ปี” ขับเคลื่อนประเทศจีนบรรลุสู่เป้าหมายประเทศสังคมนิยมที่มีความทันสมัย, มีความแข็งแกร่ง, สวยงาม และมีอารยธรรม ภายในปี ๒๐๕๐ พร้อมเปลี่ยนผ่านประเทศจาก “โรงงานของโลก” ขึ้นแท่นสู่การเป็น “ประเทศที่มีนวัตกรรมชั้นนำ” ด้วยอุตสาหกรรมแห่งอนาคต“อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีน” ที่จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความมั่งคั่ง นำทัพโดย ๑.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ๒.อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการผลิต ๓.อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อากาศยานและอวกาศ ๔.อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือด้านวิศวกรรมทางทะเลและเรือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ๕.อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรถไฟที่ทันสมัย ๖.อุตสาหกรรมยานยนต์ประหยัดพลังงานและยานยนต์พลังงานใหม่ ๗.อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานไฟฟ้า ๘.อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือทางการเกษตร ๙.อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุชนิดใหม่ และ ๑๐.อุตสาหกรรมการผลิตยาชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ประสิทธิภาพสูง เมื่อโลกเปลี่ยน จีนก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีน เพื่อสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รับมือความท้าทายได้ จะทำให้หน้าตาของเศรษฐกิจจีนเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม เมื่อโมเดลเศรษฐกิจเก่าไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม รัฐบาลจีนจึงยอมเจ็บในระยะสั้น เพื่อแลกกับความมั่นคง, ความยั่งยืน และความเท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นในอดีตการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง ๙% ต่อปี ตั้งแต่ปี ๒๐๐๐-๒๐๑๙ มีปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐาน ตามจำนวนประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการปฏิรูปประเทศเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ทำให้จีนกลายเป็นโรงงานผลิตและผู้ส่งออกสินค้าสำคัญของโลก ด้วยความได้เปรียบด้านขนาดของแรงงานและค่าแรงต่ำอย่างไรก็ดี ท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆของโลกยุคหลังโควิด-๑๙ เศรษฐกิจจีนจะไม่สามารถพึ่งพาเครื่องจักรเดิมๆในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกต่อไป ต้องยอมรับว่าแม้การลงทุนในภาคอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนเติบโตแข็งแกร่งตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยหนี้ล้นทะลักในบริษัทอสังหาฯและรัฐบาลท้องถิ่นถามว่าโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของจีนในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์” ฉายภาพไว้อย่างน่าสนใจ“ขนาดและความสำคัญของภาคอสังหาฯจีนมีแนวโน้มลดลง” จากเดิมที่ภาคอสังหาฯมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจจีนโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ๘% ต่อปี ในช่วงปี ๒๐๐๐-๒๐๑๙ และหากรวมภาคบริการที่เกี่ยวข้องจะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง ๒๕% ของจีดีพี เดิมทีความมั่งคั่งของชาวจีน ๗๐% เคยกระจุกตัวอยู่ในภาคอสังหาฯสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจจีนรูปแบบเดิมที่พึ่งพาภาคอสังหาฯเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี การเติบโตร้อนแรงของภาคธุรกิจดังกล่าว ทำให้การก่อหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาฯเร่งตัวสูงขึ้นมาก เกิดการเก็งกำไรสูง และนำไปสู่ปัญหาซัพพลายล้นตลาด สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ชนิดที่รัฐบาลจีนมิอาจเพิกเฉยได้ ต้องยื่นมือเข้าควบคุมการก่อหนี้ของธุรกิจอสังหาฯ ส่งผลให้ภาคอสังหาฯเกิดการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๐๒๒ และมีการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯขนาดใหญ่หลายราย แม้รัฐบาลจะเข้ามาประคับประคองภาคอสังหาฯ ผ่านการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน แต่เป็นที่สังเกตว่าขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ค่อยใหญ่นักเมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ สะท้อนชัดภาคอสังหาฯกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวเชิงโครงสร้าง และเศรษฐกิจจีนที่มีภาคอสังหาฯเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนกำลังกลายเป็นภาพในอดีตไปแล้ว “การผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรม “Three new” จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโมเดลใหม่ของจีน” รัฐบาลจีนหันมาสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการลงทุนในภาคอสังหาฯ และความได้เปรียบด้านแรงงานที่ลดลง โดย ๓ อุตสาหกรรมขั้นสูงที่รัฐบาลจีนยกให้เป็นพลังแม่เหล็กของประเทศคือ อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่, แบตเตอรี่ลิเธียม และพลังงานสะอาดในปี ๒๐๒๒ จีนมีสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ EV ๓๕% และการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ๗๕% ของโลก และยังเป็นแหล่งผลิตสำคัญของธาตุหายากอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการผลิต EV และพลังงานสะอาด ข้อมูลจากทางการจีนบ่งชี้ว่าการผลิตรถยนต์ NEV ในจีน เร่งตัวสูงขึ้นมากแตะกว่า ๗ ล้านคัน ในปี ๒๐๒๒ จาก ๑.๒ ล้านคัน ในปี ๒๐๑๙ ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนที่นำไปผลิตแผงโซลาร์ขยายตัว ๕๐-๗๐% ในปี ๒๐๒๒ การที่แนวโน้ม “อุตสาหกรรม ๓ ทหารเสือ” เติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นปัจจัยใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ล้วนมาจากความต้องการในตลาดโลกที่สูงขึ้น และการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าว่าจะช่วยยกระดับการผลิตของจีนให้มีมูลค่าสูงขึ้น ถือเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่สามารถเติบโตได้อีกมาก และกลายเป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต“รัฐบาลจีนจะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก” ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ออกโรดแม็ปเศรษฐกิจหลายนโยบาย เช่น “Dual Circulation” ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน สนับสนุนการบริโภคในประเทศให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก แทนการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศในอุตสาหกรรมขั้นสูง เพื่อลดการพึ่งพาชาติตะวันตก, “Made in China ๒๐๒๕” รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตภายในประเทศสำหรับสินค้าที่มีความสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีอื่นๆ และ “Common Prosperity” การกระจายความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการควบคุมอัตราการเติบโตธุรกิจและบุคคลรายได้สูงให้มีความเหมาะสม แก้ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย เพื่อให้เดินไปตามโรดแม็ปเหล่านี้ รัฐบาลจีนจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เพื่อควบคุมการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นตามเป้าหมาย และลดการพึ่งพาชาติตะวันตก ที่มีแนวโน้มออกมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นมากเศรษฐกิจจีนมีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปมาตามนโยบายของพรรคการเมือง ที่สลับสับรางเข้ามาเป็นรัฐบาลเหมือนกับประเทศอื่นๆ สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “กุญแจสู่ความมั่งคั่ง” ของประเทศจีนในปัจจุบันและอนาคต ก็คือ “ระบบความคิด” ในการทำความเข้าใจภาพรวมอย่างถี่ถ้วน และการตีโจทย์อย่างแตกฉานเพื่อให้เข้าถึงแก่นของระบบเศรษฐกิจยุคระเบียบโลกเก่า จีนมองภาพรวมทางเศรษฐกิจโลกเป็น “วงกลม” ที่มีชั้นนอกและชั้นใน โดยชั้นในนั้นประกอบด้วยขั้วอำนาจอิทธิพลทางการเมืองโลกเก่า ที่ถือครองเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง มีการกำหนดกฎเกณฑ์ตลาดการค้าเสรีที่มีความได้เปรียบ พร้อมวางมาตรการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมเฉพาะทางของตัวเองอย่างชาญฉลาด เพื่อให้อุตสาหกรรมดังกล่าวไร้คู่แข่งจากต่างชาติส่วนวงกลมชั้นนอกคือ “ประเทศกำลังพัฒนาส่วนที่เหลือ” ซึ่งเป็นตลาดที่จะมารองรับนวัตกรรมของกลุ่มประเทศชั้นใน เป็นแหล่งของแรงงานราคาถูก และแหล่งทรัพยากรวัตถุดิบราคาถูก กลุ่มนี้จะโดนควบคุมด้วยกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ก้าวเข้าสู่วงกลมชั้นในได้ตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา จีนเร่งเครื่องพัฒนาตัวเองอย่างหนัก เพื่อให้หลุดออกจากวงกลมชั้นนอก โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาภาคอสังหาฯ, การพัฒนาภาคเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาขนาดของอุตสาหกรรมการผลิตราคาถูก จนพบเห็น “ขีดจำกัด” ของสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับปัญหาที่พ่วงตามมา ไม่ว่าจะเป็น การผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ และอุตสาหกรรมการผลิตที่ขาดการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือขาดแรงกระตุ้นที่จะก่อให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะมุ่งหวังแต่ทำกำไรทั้งหมดนี้ ได้นำไปสู่การจัดระเบียบและการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ของเศรษฐกิจจีน นับตั้งแต่ปี ๒๐๒๐ โดยโยกย้ายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปอยู่ที่การใช้ “เทคโนโลยี” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตและการสร้างซัพพลายเชนห่วงโซ่อุปทานระดับโลก, การสร้างอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และวัสดุชนิดใหม่ และการใช้วิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของจีนที่อยู่ในระดับ ๑๒% จะต้องกลายเป็น ๓๐-๔๐% สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในโรดแม็ป ๑๕ ปีนวัตกรรมจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจับตามอง จีนกำลังตีตลาดโลกด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และมุ่งหน้าพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เพื่อเจาะไข่แดงขั้วมหาอำนาจเก่า เตรียมผงาดขึ้นเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมชั้นนำของโลก.ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่