วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

"นฤมล" นำ ทีมไทยแลนด์ หารือภาครัฐ-เอกชน "ญี่ปุ่น" ขยายตลาดการค้า

04 มี.ค. 2024
24

“นฤมล” ผู้แทนการค้าไทย นำทีมหน่วยงานภาครัฐ และทีมไทยแลนด์ หารือภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่น ขยายตลาดการค้า เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยวันที่ ๔ มี.ค. ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย นำทีมคณะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของไทย ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย และทีมไทยแลนด์ในกรุงโตเกียว พบหารือกับนาย Shin Hosaka ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Vice Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) และนาย Norihiko Ishiguro ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization : JETRO) ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า นาย Shin Hosaka กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นต้องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อรองรับอนาคตไปด้วยกัน ภายใต้คอนเซปต์การร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดของ “๕๐ ปีใหม่” โดย METI ได้ตั้งงบประมาณกว่า ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภูมิภาค Global South ทั้งหมดเพื่อผลักดันกรอบการดำเนินงานดังกล่าวอย่างแข็งขัน และต้องการดำเนินโปรเจกต์ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องการประสานกับไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่น ยังส่งเสริมความร่วมมือภายใน Asia Zero Emission Community (AZEC) เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางพลังงาน ไปพร้อมกันกับการลดคาร์บอนผ่านแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลายให้สอดคล้องกับภาวะของแต่ละประเทศ และขอรับการสนับสนุนจากไทยต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการกำหนดส่งเสริมการจัดทำนโยบายเพื่อการลดคาร์บอน โดยก่อตั้ง Asia Zero Emission Center ขึ้นใน ERIA (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia) เพื่อผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ ตลอดจนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการสำรวจ วิเคราะห์ และจัดทำนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอื่น เช่น ดำเนินการสำรวจวิเคราะห์เกี่ยวกับขยะพลาสติกในน่านน้ำเศรษฐกิจหมุนเวียน ผู้แทนการค้า ได้กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ยืนยันรัฐบาลไทยพร้อมอำนวยความสะดวก และมอบสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี พร้อมกันนี้ ประเทศไทยต้องการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น รวมทั้งผลักดันสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย และหวังขยายการค้าการลงทุนอื่นๆ ด้านต่างๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงผลไม้ของไทยที่มีรสชาติอร่อย เช่น กล้วยหอม ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นทำสัญญารับซื้อกล้วยหอมจากประเทศไทย จำนวน ๕,๐๐๐ ตันต่อปี โดยหวังให้ญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนการสั่งซื้อ และช่วยประชาสัมพันธ์มังคุด ซึ่งเป็นราชินีผลไม้ไทยได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นผู้แทนการค้า ระบุ จากที่ METI ได้ตั้งงบประมาณกว่า ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภูมิภาค Global South สำหรับสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อรองรับอนาคตนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการดำเนินงาน ภายใต้งบประมาณสนับสนุนดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยพยายามดึงดูดให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย โดยปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย รวมทั้ง การส่งเสริมให้เอกชนญี่ปุ่นจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ในประเทศไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผู้แทนการค้าไทยเปิดเผยถึงผลการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่ม starup ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น การเกษตร และด้านคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งกลุ่มบริษัท startup ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี สามารถนำไปต่อยอดในประเทศไทยได้ โดยผู้แทนการค้า ได้เสนอแนะกับทางญี่ปุ่น ให้รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณให้กับบริษัท startup ญี่ปุ่น ผ่านการทำความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ เช่น ลงนาม mou กับหน่วยงานของรัฐในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถสนับสนุนงบประมาณได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยญี่ปุ่น และเกิดประโยชน์ต่อการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น“ไทยและญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนสะสมในประเทศไทยมากเป็นอันดับ ๑ โดยในปี ๒๕๖๖ ญี่ปุ่น ยังมีปริมาณการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเป็นอันดับที่ ๔ มูลค่า ๖๕,๔๗๒ ล้านบาท จำนวน ๒๗๕ โครงการ คิดเป็น ร้อยละ ๒๐ ของจำนวนโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด โดยประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติให้ การส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดของญี่ปุ่น ได้แก่ (๑) เครื่องจักรและยานยนต์ (๒) อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ และ (๓) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยกว่า ๖,๐๐๐ ราย จากบริษัททั้งหมดที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน ๑๔,๘๔๖ ราย” ผู้แทนการค้า ย้ำ