Thursday, 5 December 2024

สุดทึ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน คว้าเหรียญทองรางวัลสิ่งประดิษฐ์ วช.

รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตามที่ มทร.ธัญบุรี มีนโยบายส่งเสริมให้คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้พัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน ผลิตจากน้ำยางพาราและผักตบชวา ของนายภพธร คล้ายเข็ม นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ และนายพฤติพงศ์ พันธมนัสโสภา นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี มี รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์วารุณี อริยวิริยะนันท์ จาก มทร.ธัญบุรี และ ศ.ด็อกเตอร์สนอง เอกสิทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Awards) ระดับอุดมศึกษา กลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับชาติ-Thailand New Gen Innovators Award ๒๐๒๔ (I-New Gen Awards ๒๐๒๔) จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ ๒๕๖๗ด้านนายภพธรกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน มาจากการตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลและชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและในระยะยาวต่อมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตในทะเลและบนบก สิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดูดซับน้ำมันจึงมีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมกันหาวัสดุรอบตัวมาใช้จัดการกับปัญหาดังกล่าวขณะที่นายพฤติพงศ์กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเริ่มต้นจากการนำผักตบชวาไปตากแดดหรืออบให้แห้ง จากนั้นบดให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นเส้นใย แล้วนำไปทำความสะอาดด้วยวิธีการฟอกจนได้เป็นสีขาว ก่อนการบดให้ละเอียด แล้วสกัดจนออกมาเป็นผลึกนาโนเซลลูโลส จากนั้นนำไปผสมกับน้ำยางพาราบริสุทธิ์ ขึ้นรูปจนได้โฟมยาง จุดเด่นของผลงานนี้ หากน้ำมีน้ำมันปะปนกันอยู่โฟมจะทำหน้าที่ดักจับเฉพาะน้ำมัน และเมื่อรีดน้ำมันออกสามารถนำโฟมไปใช้ซ้ำได้อีกมากกว่า ๔๐-๕๐ ครั้ง รวมถึงน้ำมันที่ดักจับได้ สามารถนำไปใช้งานต่อได้ด้วย ขณะเดียวกันโฟมยางที่พัฒนาขึ้นนี้ มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ เคลื่อนย้ายได้ง่ายทำให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน และยังสามารถขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆได้อีกด้วยเพื่อให้ง่ายและเข้าถึงต่อพื้นที่ และผลงานดังกล่าวยังถือเป็นการแก้ปัญหาใน ๒-๓ มิติ ลดปัญหาวัชพืชของผักตบชวา และสนับสนุนการใช้ยางพาราให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์.อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่