วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

“๒ ตำนาน” งานใหญ่ หนังสือ+มอเตอร์โชว์

17 มี.ค. 2024
56

คงจะทราบกันดีแล้วว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงต้นเดือนเมษายน อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้จะมี “งานใหญ่” ระดับ “ตำนาน” ให้คนไทยหลั่งไหลไปเที่ยว ๒ งานด้วยกันได้แก่งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ๒๕๖๗” หรือ ครั้งที่ ๕๒ กับงาน “บางกอกอินเตอร์เนชั่น แนล มอเตอร์โชว์ ๒๕๖๗” หรือ ครั้งที่ ๔๕ นั่นเองเรามาเริ่มกันที่งานแรกก่อนเลยครับดูจากจำนวนครั้งที่แถลงไว้ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ประจำปี ๒๕๖๗ ซึ่งจะเริ่ม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม-๘ เมษายนนี้ เป็นงานที่เก่าที่สุดเพราะย่างเข้าสู่ครั้งที่ ๕๒ หรือปีที่ ๕๒ เข้าไปแล้วตาม “ตำนาน” ที่มีการบันทึกไว้ระบุว่า “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” จัดขึ้นครั้งแรกโดยมติของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กับคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ (ใน พ.ศ.นั้น) ที่บริเวณ โรงละครแห่งชาติ ข้างๆ สนามหลวง ด้านเหนือนั่นเองจากนั้นก็โยกย้ายไปที่ท้องสนามหลวงบ้าง, คุรุสภาบ้าง, ถนนลูกหลวง ข้างๆกระทรวงศึกษา ธิการบ้าง ฯลฯ รวมทั้งไปจัดที่โรงเรียนหอวังและสวนลุมพินีก็ยังมีบันทึกไว้แต่ที่หัวหน้าทีมซอกแซกคุ้นเคยที่สุดก็คือบริเวณ ถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะมีการตั้งเต็นท์สู้แดดสู้ฝนและสู้ฝุ่นที่นั่นจำได้ว่าช่วงเที่ยงๆบ่ายๆจะร้อนมาก ผู้คนบางตา แต่พอตกเย็นและหัวค่ำจะเย็นลงและจะมีคนไปเดินมากขึ้นต่อมาเมื่อมีการก่อสร้าง ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ ขึ้นใน พ.ศ.๒๕๓๔ งานสัปดาห์หนังสือก็มีโอกาสไปจัดที่ศูนย์แห่งนี้ และกลายเป็น “งานคู่ขวัญ” ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่คนรักหนังสือจะไปเยี่ยมเยือนเสมอปีละครั้งเกิดเป็นตำนานของการลากกระเป๋าเดินทางไปซื้อหนังสือ ลากลงสู่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกลับบ้านอยู่หลายปี จนกระทั่งมีการปิดศูนย์ประชุมฯ เพื่อปรับปรุงและขยายพื้นที่เพิ่มเติม จึงได้โยกย้ายชั่วคราวไปที่ เมืองทองธานี เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๒-๒๕๖๓ และ ศูนย์ไบเทค บางนา เมื่อ ๒๕๖๔ปี ๒๕๖๕ มีโอกาสไปจัดที่ สถานีกลางบางซื่อ (ชื่อในขณะนั้น) เพื่อร่วมฉลองงานครบ ๕๐ ปีของสัปดาห์หนังสือและ ๑๒๕ ปีของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่มากสุดนับตั้งแต่ต้องอพยพออกจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แต่ในที่สุด พ.ศ.๒๕๖๖ งาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งระยะหลังจะรวมงาน สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ไว้ด้วยก็ได้กลับคืนสู่ ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง ท่ามกลางการต้อนรับของคนรักหนังสืออย่างอบอุ่น รวมทั้งปีนี้ ๒๕๖๗ซึ่งเป็นครั้งที่ ๕๒ ก็จะจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เช่นเคยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ผู้รับหน้าที่ในการจัดงานสัปดาห์หนังสือมาโดยตลอดในช่วงหลังๆ คาดว่าจะมีหนังสือกว่า ๑ ล้านเล่มจาก ๓๒๒ สำนักพิมพ์รวม ๙๑๔ บูธ มาวางจำหน่ายในปีนี้สำหรับ “ตำนานที่ ๒” เก่ารองลงมาก็คืองาน “บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ๒๕๖๗” ครั้งที่ ๔๕ นั่นเอง…แต่เดิมใช้ชื่อสั้นๆว่างาน “MOTOR SHOW’๗๙” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี ที่คนไทยยุคโน้นคุ้นเคยอย่างดียิ่ง เพราะเป็น “ฮอลล์” ขนาดใหญ่ที่สุดแล้วเท่าที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานครแม้จะมีขนาดเนื้อที่แค่ ๑๖,๐๐๐ ตารางเมตร จัดโชว์รถยนต์ได้ไม่กี่คัน แต่ก็กลายเป็นงานที่ลือลั่นของ พ.ศ.๒๕๒๒ หรือ ค.ศ.๑๙๗๙ ได้รับเสียงกล่าวขานแสดงความชื่นชมกระหึ่มไปทั่วนับเป็นกำลังใจแก่ ปราจิน เอี่ยมลำเนา อดีตศิษย์เก่าโรงเรียน อยุธยาวิทยาลัย และ โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งออกมาเป็นช่างศิลป์ให้กับนิตยสารรถยนต์ กรังด์ปรีซ์ และได้กลายเป็นเจ้าของนิตยสารเสียเอง จึงตัดสินใจจัดงานโชว์รถยนต์ครั้งแรกของประเทศไทยขึ้นเท่าที่มีการจดบันทึกไว้ในปีแรกที่เขาจัดขึ้นแค่ ๕ วัน (๒-๖ เมษายน ๒๕๒๒) ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินีนั้นมีคนเข้าชมถึง ๓๘๐,๐๐๐ คนจัดที่สวนลุมพินีได้ปีเดียว ปีถัดมา ๒๕๒๓ ปราจิน เอี่ยมลำเนา ก็โยกย้ายไปจัดที่ สวนอัมพร ซึ่งกว้างขวางกว่าจัดโชว์รถยนต์ได้มากกว่า มีแฟนรถยนต์ไปให้กำลังใจเพิ่มจากปีแรกเล็กน้อยประมาณ ๓๙๐,๐๐๐ กว่าคนเขาจึงปักหลักจัดที่สวนอัมพรต่อไปอีกถึง ๑๗ ปี และก็มีผู้ชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนทะลุหลัก ๒ ล้านคน ในช่วงหลังๆปี ๒๕๔๐ เป็นปีสุดท้ายที่งานนี้จัดที่สวนอัมพร เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นต้นมา ปราจิน เอี่ยมลำเนา ก็ตัดสินใจใหญ่อีกครั้งโดยโยกย้ายไปจัด ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ ไบเทค บางนา อันกว้างขวางมีพื้นที่ให้โชว์รถยนต์ได้อย่างเต็มที่งานมอเตอร์โชว์ยึดครองพื้นที่ไบเทคบางนาอยู่ ๑๓ ปีเต็ม ถึงปี ๒๕๕๔ จึงย้ายไปสู่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นับถึงปีนี้น่าจะเกิน ๑๐ ปีแล้วสำหรับการเปลี่ยนชื่อมาเป็นงาน “Bangkok International Motor Show” นั้น เริ่มขึ้นในการจัดงานครั้งที่ ๑๗ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งยังจัดอยู่ที่ “สวนอัมพร” และได้ใช้ชื่องานดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าความยิ่งใหญ่อลังการของงานมอเตอร์โชว์นอกจากจะมีรถหรูแห่งปี รถซุปเปอร์คาร์ราคาแพงแห่งปี รวมทั้งรถรุ่นใหม่ล่าสุดแห่งปีมาร่วมโชว์จนเป็นที่ฮือฮามาโดยตลอดแล้วนั้น ยังหนีไม่พ้นที่ผู้คนจะพูดถึง “แม่ย่านางรถ” หรือเหล่าบรรดา “พริตตี้” ทั้งหลายที่กลายเป็นองค์ ประกอบที่สำคัญยิ่งของงานรถยนต์ไปด้วยสำหรับปีนี้ ๒๕๖๗ หรือครั้งที่ ๔๕ ซึ่งจะยังคงจัดที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ระหว่าง ๒๗ มีนาคมถึง ๗ เมษายนนั้น คาดว่าจะกระหึ่มไปด้วยสาวงามและรถงามอีกเช่นเคยครับ! ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องเล่าหรือตำนานของ ๒ งานใหญ่ที่ประชันกันมาทุกปีกว่า ๔๐ ปีเข้านี่แล้ว…ผลปรากฏว่าสูสีกันเพราะจะมีกองเชียร์หรือคนไปเที่ยวงานในจำนวนใกล้เคียงกันเสมอปีนี้จะใกล้เคียงอีกหรือเปล่า? หรืออาจจะมีงานใดเอาชนะได้เด็ดขาด…ปลายมีนาคมต้นเมษายนอีกอึดใจเดียวเท่านั้นเดี๋ยวก็รู้ละครับ.“ซูม”คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม