Sunday, 15 September 2024

ไหมพันธุ์ใหม่..ศรีสะเกษ ๗๒ เลี้ยงง่าย ใยไหมสีเหลืองเข้ม

พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม เผยถึงที่มาของไหมไทยพันธุ์ใหม่ พันธุ์ศรีสะเกษ ๗๒ ว่า เกิดจากการพัฒนาพันธุ์ไหมไทยพื้นบ้าน ชนิดลูกผสมเดี่ยว ที่กรมหม่อนไหมได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ โดยการรวบรวมสายพันธุ์ไหมไทยพื้นบ้านจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ใช้เวลา ๒ ปี (๒๕๕๐-๒๕๕๑) ด้วยการคัดเลือกพันธุ์จนได้พันธุ์แท้ที่มีลักษณะสม่ำเสมอ กระทั่งปี ๒๕๕๒ จึงนำไหมไทยพื้นบ้านที่คัดเลือกพันธุ์ได้ มาผสมพันธุ์เพื่อสร้างไหมพันธุ์ใหม่ และทำการเปรียบเทียบพันธุ์ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ต่างๆ ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ, แพร่, น่าน, ตาก, เชียงใหม่, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, มุกดาหาร, ชุมพร, สุรินทร์และนครราชสีมา จากนั้นได้มีการทดสอบพันธุ์ในภาคการเกษตร (Farmer test) ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, กำแพงเพชร, ศรีสะเกษ, ร้อยเอ็ด, มุกดาหารและชุมพร จึงได้ไหมไทยพื้นบ้าน “ทับทิมสยาม ๐๖ × วนาสวรรค์” “ในปี ๒๕๖๐ มีการนำไหมไทยพื้นบ้าน ทับทิมสยาม ๐๖ × วนาสวรรค์ มาเลี้ยงทดสอบการผลิตกระดาษใยไหมหรือแผ่นใยไหมประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรที่ผลิตแผ่นใยไหม เราพบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจในการผลิตแผ่นใยไหมจากไหมพันธุ์ดังกล่าว การประชุมคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์หม่อนไหมครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ จึงมีมติเห็นชอบให้รับรองพันธุ์ไหมไทยพื้นบ้าน “ทับทิมสยาม ๐๖ × วนาสวรรค์” เป็นพันธุ์ไหมแนะนำ โดยใช้ชื่อ “พันธุ์ศรีสะเกษ ๗๒” ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Si Sa Ket ๗๒ และมีชื่อย่อ คือทับทิมวนา” อธิบดีกรมหม่อนไหม บอกถึงคุณสมบัติเด่นของไหมพันธุ์ศรีสะเกษ ๗๒ ว่า เป็นพันธุ์ที่แข็งแรง เลี้ยงง่าย ไหมมีความแข็งแรงเลี้ยงง่าย โดยมีการฟักออกสูงถึง ๙๕.๘๐% การเข้าทำรัง ๙๗.๒๗% ดักแด้สมบูรณ์ ๙๐.๐๗% ให้ผลผลิต รังไหมและเส้นไหมมีสีเหลืองเข้ม และเมื่อนำมาผลิตเป็นแผ่นใยไหมจะได้แผ่นใยไหมมีความละเอียด เงางาม สีเหลืองเข้ม และเส้นใยมีความสม่ำเสมอ โดยกรมหม่อนไหมสามารถผลิตไข่ไหมพันธุ์ศรีสะเกษ ๗๒ ปีละกว่า ๓๐,๐๐๐ แผ่นสำหรับที่มาของ การใช้ชื่อ “ศรีสะเกษ ๗๒” พันจ่าเอกประเสริฐ เผยว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และจากนี้ได้เตรียมการที่จะนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรเพื่อนำไปเลี้ยงต่อเพื่อผลิตเป็นรังไหม เส้นไหมและแผ่นใยไหม ในการต่อยอดสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมต่อไป. ชาติชาย ศิริพัฒน์คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม