Thursday, 5 December 2024

นายกฯ เปิดเงื่อนไขเงินดิจิทัลแบบเต็ม ไม่กู้-เงินถึงมือไตรมาส ๔-ซื้อออนไลน์ไม่ได้

“เศรษฐา” นำแถลงโครงการเงินดิจิทัล ยันเงินส่งตรงถึงมือประชาชนในไตรมาส ๔ ปีนี้ ให้สิทธิ์ ๕๐ ล้านคน ผ่านวงเงิน ๕ แสนล้านบาทแบบไม่กู้ ใช้งบประมาณแผ่นดินปี ๒๕๖๗ คู่ปี ๒๕๖๘ เงื่อนไขใช้กับร้านในอำเภอ ซื้อทางออนไลน์ไม่ได้ กระทรวงการคลังเตรียมชง ครม. เดือนเมษายนนี้วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๗ เมื่อเวลา ๑๑.๓๐ น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำแถลงข่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ ๓/๒๕๖๗ พร้อมกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลมีความยินดีจะประกาศให้ประชาชนทราบว่านโยบายเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยรัฐบาลได้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพื่อพลิกชีวิตให้กับประชาชนและที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส ๓  และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส ๔ ของปีนี้ ยืนยันว่านโยบายเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ที่จะเกิดการลงทุนขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะได้รับผลการตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี เป็นการเตรียมความพร้อมประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ในการพึ่งพาตัวเอง และยังก่อให้เกิดเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมโดยจะให้สิทธิ์ประชาชนจำนวน ๕๐ ล้านคนผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน ๕ แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดเพื่อเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ ๑.๒ ถึงร้อยละ ๑.๖นายเศรษฐา ยังยืนยันอีกว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซื่อสัตย์สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง รวมถึงรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินกู้เงิน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณในปี ๒๕๖๗ และ ๒๕๖๘ ควบคู่กันไป แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือส่วนที่ ๑ เป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๘ จำนวน ๑๕๒,๗๐๐ ล้านบาท โดยได้ขยายกรอบวงเงินในปี ๒๕๖๘ เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ ๒ จะมาจากการเติมเงินผ่านโครงการหน่วยงานของรัฐจำนวน ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะใช้มาตรา ๒๘ โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน ๑๗ ล้านคนเศษผ่านกลไกงบประมาณของปี ๒๕๖๘ และส่วนที่ ๓ จะมาจากการจัดสรรงบประมาณของปี ๒๕๖๗ จำนวน ๑๗๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาว่า งบรายจ่ายสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยอาจจะมีการพิจารณางบกลางมาใช้ร่วมด้วย ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ โดยวงเงินทั้ง ๓ ส่วน เมื่อรวมกันจะครบทั้ง ๕ แสนล้านบาทพอดี ทั้งนี้ ยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกฎหมายวินัยการเงินการคลัง หรือกฎหมายพ.ร.บ.เงินตรา ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข้อกังวล โดยวันที่เริ่มโครงการจะมีเงินงบประมาณเต็มจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่ได้มีเงินสกุลอื่นหรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีการเห็นชอบหลายเรื่องโดยเฉพาะ มีการคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจในปี ๒๕๖๗ จะมีการขยายตัวและเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายหลังโควิด-๑๙ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนและกระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนโดยมีขอบเขตและเงื่อนไข ตลอดจนรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการได้วางแนวทางและรายละเอียดไว้ดังนี้๑. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ ๕๐ ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน ๑๖ ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน ๘๔๐,๐๐๐ บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ๒. เงื่อนไขการใช้จ่าย ๒.๑ ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (๘๗๘ อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น  ๒.๒ ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ ๑ จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ ๒ ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า ๓. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม ๔. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย    ๕. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (๑) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (๒) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา ๔๐ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (๓) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ ๒ เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องของการทุจริต ๖. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๖๗ และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๖๗ ๗. เพื่อป้องกันการทุจริตของโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรรมการ และที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทผ่านดิจิทัล wallet โดยมีตนเอง คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธานมีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงานและการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งนี้ในวันนี้คณะกรรมการมีมติเห็นชอบในทุกประเด็นและมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับการเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้ ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย