วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

กากแคดเมียม-แอมโมเนียรั่ว ปริศนาเคมีอันตราย ความขมขื่นที่ชาวบ้านแบกรับรายวัน

19 เม.ย. 2024
15

กากแคดเมียม-แอมโมเนียรั่วไหล ท่ามกลางปริศนาว่าใครคือต้นตอ ขณะชาวบ้านได้แต่ก้มหน้ารับความเสี่ยง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า ที่ผ่านมาระบบป้องกันสารเคมีอันตรายยังมีช่องโหว่ ขาดการตรวจสอบด้วยผู้มีความรู้และโปร่งใส โดยเฉพาะขยะที่นำมาจากต่างประเทศ ล้วนแฝงอันตรายสารเคมีที่รั่วไหล หรือกากเคมีที่ถูกส่งมานอกพื้นที่ควบคุม กลายเป็นความเสี่ยงรายวันของชาวบ้านโดยรอบ ทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงภัยของสารเคมีอันตราย เพราะกรณีบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ขายกากแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบใน จ.ตาก ขายให้กับบริษัทหนึ่งที่ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร กว่า ๑๐,๐๐๐ ตัน และเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ต้องมีการรื้อการตรวจสอบกันยกใหญ่ ล่าสุดกลางดึกวันที่ ๑๗ เม.ย. ๖๗ โรงงานน้ำแข็งแห่งหนึ่งใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เกิดแอมโมเนียรั่วไหลรุนแรง ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยรอบ ท่ามกลางปริศนาถึงการตรวจสอบและป้องกันเคมีอันตรายที่อยู่ในชุมชน ไปจนถึงการตั้งคำถามว่า ยังมี “กากเคมี” และสารอันตรายในอุตสาหกรรม อยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือไม่ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง “ชาติชาย ไทยกล้า” ผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิง และกู้ภัยชั้นสูง ทาฟต้า นักผจญเพลิงผู้มีประสบการณ์ควบคุมการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย เล่าว่า ตอนนี้ยังมีสารเคมีที่ไม่มีการเปิดเผยให้ชาวบ้านในรอบพื้นที่ทราบจำนวนมาก และหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. ไม่มีความรู้ว่าจะต้องตรวจสอบความอันตรายของสารเคมีเหล่านี้อย่างไรน่าสนใจว่าการจัดการกับกากอุตสาหกรรม หรือสารเคมีอันตราย ส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของอุตสาหกรรมจังหวัด อย่างกรณีแคดเมียม จากโรงงาน จ.ตาก มีการยื่นเรื่องขอจัดการขนส่งแบบออนไลน์ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นกากเคมีรูปแบบไหน ขณะที่จังหวัด สามารถเข้าไปตรวจสอบสารเคมีอันตรายได้ต่อเมื่อเกิดเหตุรั่วไหล มีผู้เสียชีวิต และชาวบ้านได้รับผลกระทบ ซึ่งบางสารเคมีก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแล แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ บางรายก็ตรวจให้พอผ่านไป สารเคมีหรือกากอุตสาหกรรม ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือคนในชุมชนส่วนใหญ่ เป็นสารที่ถูกใช้งานจากโรงงานอุตสาหกรรมมาแล้ว รอการจัดเก็บหรือทำลาย ขณะเดียวกันก็มีสารเคมีอันตราย ที่ถูกส่งมาจากต่างประเทศ ซึ่งโรงงานบางแห่งในไทย กลายเป็นแหล่งจัดเก็บขยะจากอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ“การตรวจสอบเพื่อป้องกันกากอุตสาหกรรมที่อันตรายของภาครัฐไทยมีช่องว่าง เพราะบางกรณีเมื่อเป็นหน้าฝนก็จะแอบปล่อยสารอันตรายลงแหล่งน้ำ พอน้ำแห้งจะมีกลิ่นเหม็นกระจายไปทั่ว ขณะที่ชาวบ้านไม่มีความรู้ ทำให้ได้รับสารอันตรายสะสมโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับแรงงานทำงานในสถานที่นั้น ยังไม่มีความเข้าใจและป้องกันอันตรายอย่างถูกต้อง” สารพิษเคมีในโรงงาน ที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อสอบถามถึงสารเคมีชนิดอื่น ที่มีโอกาสรั่วไหล และอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน “ชาติชาย” ให้ความเห็นว่า มีหลายสารเคมี แต่ที่น่าห่วงคือ สารปรอท แมกนีเซียม และโครเมียม โดยเฉพาะในโรงงานที่รับกำจัดขยะจากต่างประเทศ สารเหล่านี้ปนอยู่ในขยะประเภทต่างๆ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับประชาชนทั่วไป ค่อนข้างสังเกตได้ยาก กรณีที่สารเคมีรั่วไหล เนื่องจากสารเคมีบางชนิดไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่ในกรณีที่ถูกปล่อยมาปนเปื้อนกับน้ำ จะเห็นว่าหญ้าบริเวณขอบบ่อน้ำจะแห้งตาย และปลาในน้ำตายมากผิดปกติ ดังนั้น ชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานต้องเข้มแข็ง คอยสังเกตสิ่งผิดปกติ แต่ที่ผ่านมาพอชุมชนไม่เข้มแข็ง ต่างคนต่างอยู่ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้วกรณีที่เจอไฟไหม้โรงงานที่มีสารเคมี กู้ภัยและประชาชนต้องประเมินศักยภาพตัวเองก่อน ถ้าหากเห็นว่ามีสารเคมีอันตราย ต้องแจ้งทีมที่มีความรู้มาดับ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือ โรงงาน ผู้ควบคุมในพื้นที่ไม่ทราบว่าสารเคมีเหล่านั้นเป็นสารอะไร เลยทำให้ทีมทำงานมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานรัฐควรทำคือ การป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี และให้ความรู้กับพนักงานในโรงงาน ในการจัดการการป้องกัน รวมถึงการควบคุมเหตุ โดยต้องให้ความรู้กับคนในชุมชนใกล้เคียงด้วย เพื่อให้ชาวบ้านทราบและเกิดการป้องที่เหมาะสม.