วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

การศึกษาเพื่อทุกคน คำมั่นที่ไม่เป็นจริง?

19 เม.ย. 2024
16

ตอนแรกที่เข้าไปสถานีตำรวจบ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เพียงแต่ตั้งใจไปสังเกตการณ์เพราะมีข่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และตำรวจจะเอาเด็ก ๑๒๖ คนจาก ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖ จ.อ่างทอง มาแวะพักที่นี่ก่อนจะส่งกลับภูมิลำเนาตอนนั้น…ยังไม่ค่อยได้ตามข่าวนี้ อ่านจากสื่อบางสำนักที่รายงานเสมือนว่า จู่ๆมี “เด็กต่างด้าว” กว่าร้อยคนไปโผล่ที่อ่างทอง เขา พาดหัวข่าวให้ฟังดูน่าตื่นตะลึง…น่างงงวย พร้อมๆกับคำสัมภาษณ์ของฝ่ายปกครองและตำรวจ ประมาณว่าจะต้องตรวจสอบว่าถูกบังคับล่อลวงมาหรือไม่ ย้อนภาพจำในวันวาน…เมื่อหนึ่งในทีมสำนักข่าวชายขอบกับน้องๆนักข่าวในพื้นที่ไปถึงสถานีตำรวจบ้านดู่ ดูท่าทางตำรวจ (ส่วนกลาง) และเจ้าหน้าที่ พม.จะออกอาการอึกๆอักๆแต่…โชคดีที่วันนั้นบังเอิญมีทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีต สว.มาร่วมสังเกตการณ์ด้วยซึ่งจริงๆแล้ว…ทั้งหมดเดินทางมาเพื่อร่วมงานสัมมนาอีกงานหนึ่ง จึงถือโอกาสแวะมาดูเด็กๆทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามเชิญ (ต้อน) ให้พวกเราขึ้นไปอยู่บนห้องประชุม และมีตำรวจใหญ่นายหนึ่งเล่าถึงที่มาที่ไปของเด็กกลุ่มนี้ แต่ที่เขากำชับเราในฐานะสื่อเป็นพิเศษคือ…ห้ามถ่ายภาพเด็กๆ…ไม่ใช่กำชับธรรมดา แต่ออกจะเป็นเสียงขู่เสียมากกว่า ทั้งๆที่เป็นจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานที่สื่อมวลชนรู้อยู่แล้ว“เมื่อรถบัสของเด็กๆมาถึง เขาแจกข้าวกล่องให้เด็กๆกินข้าวบนรถบัส ทั้งๆที่เด็กๆนั่งรถกันมาหลายชั่วโมงแทนที่จะได้ลงมายืดเส้นยืดสายกันบ้างเข้าใจว่าเขาคงกลัวสื่อมวลชนจะถ่ายภาพ จากนั้นจึงพาเด็กๆ ไปไว้ตามบ้านพักเด็กต่างๆ โดยเก็บตัวเด็กๆไม่ให้เจอกับคนนอกเลย”แต่…อาการลุกลี้ลุกลนของทางการทำให้ต้องรู้สึกประหลาดใจและหาความรู้จากนักกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่างยืนยันว่า…การเอาเด็กออกจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ กลางคันและส่งกลับพม่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งเพราะนอกจากทำลายโอกาสทางการศึกษาเด็กแล้ว ยังละเมิดกฎหมายและอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้ เด็กนักเรียนไร้เอกสารทางทะเบียนราษฎร ๑๒๖ คนกำลังจะถูกส่งกลับพม่าจึงเป็นประเด็นข่าวที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนในวันนั้น โดยมีข้อมูลหลากหลายด้านยิ่งเมื่อได้สัมภาษณ์ผู้รู้ด้านต่างๆ ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้มีความ “ไม่ปกติ” พอสมควรเห็นได้ชัดว่าหน่วยงานราชการที่ถือกฎหมายคุ้มครองเด็ก ก็ไม่พยายามทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หน่วยงานที่ถือกฎหมายด้านการศึกษากลับไม่ให้โอกาสการศึกษาเด็กเท่าที่ควรสำนักข่าวชายขอบพยายามเกาะติดข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ท้ายสุดเด็กๆ ทั้ง ๑๒๖ คนก็ถูกส่งกลับพม่า ทั้งๆที่สถานการณ์ในพม่ากำลังเกิดการสู้รบจนไม่มีใครอยากอยู่และต้องแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยพักอาศัย “ผมถูกดึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์เด็กๆ ๑๒๖ คน เมื่อพวกเขาถูกส่งกลับไปแล้ว การพูดคุยกันในกลุ่มในช่วงแรกๆ หลายคนยังหวังว่าจะได้กลับไปเรียนที่อ่างทองอีก แต่ความหวังของพวกเขาก็ค่อยๆเลือนไป ต่อมามีคนเสนอทางเลือกให้เด็กๆได้เรียนในโรงเรียนตามอำเภอชายแดนในจังหวัดเชียงราย…”หลายคนดีใจเพราะจะได้โอกาสรับการศึกษาต่อ แต่พอจะเข้าไปสู่ระบบโรงเรียน กลับไม่ได้รับการเซ็นรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน หลายโรงเรียนปฏิเสธตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งโรงเรียนของ ตชด.ก็ยังไม่รับเด็กเหล่านี้สาเหตุสำคัญเพราะนับตั้งแต่เกิดเรื่องและทางการดำเนินคดีกับอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ พร้อมคณะและส่งเด็กๆ กลับพม่า ทำให้ต่างรู้สึกหวาดหวั่นที่จะรับเด็กกลุ่มนี้เข้าเรียนเพราะกลัวจะสร้างปัญหาให้กับเขา ในที่สุดเด็กกลุ่มนี้จึงไม่มีที่เรียนวิธีการของ “ราชการไทย” กลายเป็นการประทับตราบาปไว้กับเด็กน้อยทั้ง ๑๒๖ คน ทุกวันนี้เด็กๆ ๑๒๖ คนต่างกระจัดกระจายแทรกซึมเข้าไปในสังคม ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็ติดตามพ่อแม่เข้าไปหางานทำในประเทศไทยและถูกกลืนหายไปจริงๆแล้ว…เรื่องนี้น่าจะเป็นบทเรียนของหน่วยงานราชการที่คาบกฎหมายคุ้มครองเด็กและ พระราชบัญญัติการศึกษาฯ ไว้กับปาก? เพราะกลายเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสนใจ และเชื่อว่าได้มีการรายงานข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปยังองค์กรของยูเอ็นที่ติดตามเรื่องนี้แต่แล้ว…เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันก็ยังเกิดขึ้นอีกกับเด็กไร้สัญชาติอายุระหว่าง ๕-๑๗ ปี ๑๙ คน บ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งถูกส่งกลับมาจากวัดสว่างอารมณ์ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี หลังจากเด็กเหล่านี้ไปบวชเรียน แต่ต้องถูกสึกและส่งกลับมาเชียงรายเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคมที่ผ่านมาโดยทาง พม.และ ตม.กำลังดำเนินคดีกับครูน้ำเช่นเดียวกับอดีต ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากสร้างความหวั่นไหวให้คนที่ทำงานด้านเด็กและการศึกษาแล้ว ยังส่งผลต่อเด็กโยกย้ายถิ่นฐานอีก จำนวนนับแสนคนในประเทศไทย ทุกวันนี้ในพื้นที่ชั้นใน เรามีสถานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่รับเด็กนักเรียนไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรไว้ คำถามสำคัญมีว่า…ผู้บริหารสถานศึกษาและเด็กๆเหล่านี้จะมีบั้นปลายเช่นเดียวกับ ผู้อำนวยการร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖ และครูน้ำ และเด็กๆของทั้ง ๒ สถานศึกษาหรือไม่การที่ผู้บริหารระดับนโยบายฟังแต่ข้าราชการด้านเดียวโดยไม่เห็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทำให้ความเข้าใจ “ตื้นเขิน” เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาใหญ่นี้ได้ในขณะที่รัฐบาลพยายาม “ตีปี๊บ” สร้างระเบียงมนุษยธรรมส่งความช่วยเหลือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่หนีภัยการสู้รบในพม่า แต่เด็กๆ ที่หนีภัยสงครามเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แทนที่จะได้รับการโอบกอดอย่างอบอุ่นอยู่ในสถานศึกษาที่ปลอดภัยเพื่อเรียนหนังสือ แต่พวกเขากลับถูกหน่วยงานรัฐหาวิธีผลักดัน…ส่งกลับไปเผชิญ “ความรุนแรง” ในประเทศต้นทางอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์การสู้รบในพม่านับวันยิ่งรุนแรง ขณะนี้มีผู้หนีภัยจากการสู้รบอย่างน้อย ๖ แสนคน จ่ออยู่บริเวณชายแดนตั้งแต่จังหวัดเชียงรายไปจนถึงระนอง โดยจำนวนมากเป็นเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ “รัฐบาล” ต้องมีนโยบายและทิศทางที่ชัดเจนและสั่งการให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันอย่างสอดประสาน เพราะโลกกำลังจับตา “ระเบียงมนุษยธรรม” ที่รัฐบาลกำลังป่าวประกาศอยู่บางที “การศึกษาเพื่อทุกคน (Education For All)” ที่เขียนไว้สวยหรู แต่สำหรับบ้านเมืองนี้อาจไม่มีจริง?… ถ้าหากรัฐบาลไทยยังไม่มีความ “จริงจัง” และ “จริงใจ” ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม