วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

ความพิกลพิการยังอยู่

ประเทศไทยจะได้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ๒๐๐ คน แทนชุดปัจจุบัน ๒๕๐ คน ที่จะต้องพ้นตำแหน่งในวันที่ ๑๐ พฤษภาคมนี้ ส่วน สว.ชุดใหม่จะมาจาก “การเลือกกันเอง” ของกลุ่มอาชีพ ๒๐ กลุ่ม แต่ไม่ใช่จาก “การเลือกตั้ง” ของประชาชนทั่วไป ใครต้องการเลือกตนเอง ต้องเป็นผู้สมัครนั่นก็คือ จะต้องเป็นผู้สมัครในนามกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากทั้งหมด ๒๐ กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มข้าราชการผู้บริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มกระบวนการยุติธรรม กลุ่มการศึกษา และกลุ่มชาวนา เป็นต้น ผู้สมัครต้องเสียค่าสมัครคนละ ๒,๕๐๐ บาท เพื่อเลือกตนเองหรือคนอื่นให้เป็น สว. ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของการเมืองไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ๙๒ ปี ประเทศไทยเคยมี สว.มาแล้วหลายคณะ ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เพื่อสืบทอดอำนาจ สว. ๒๐๐ คน ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่ถือว่าเป็นฉบับปฏิรูปการเมือง และเป็นประชาธิปไตยที่สุด มาจากการเลือกตั้งฉบับ ๒๕๕๐ เลือกตั้งครึ่งหนึ่งแต่งตั้งอีกครึ่งโดยปกติ สว.มักจะไม่มีอำนาจทางการเมือง มีอำนาจกลั่นกรองหรือยับยั้งร่างกฎหมายมากกว่า แต่ สว.ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มีอำนาจให้ความเห็นชอบ ให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น เป็นกรรมการ กกต. ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล้วนแต่มีอำนาจทำให้วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจทางการเมือง เป็นผู้แต่งตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น กกต.มีอำนาจควบคุมการเลือกตั้ง จะให้ใบแดงหรือใบขาว มีอำนาจชี้ขาดการเลือกตั้ง หรือชี้ขาดคดีการทุจริตการเมือง ผ่านทาง ป.ป.ช. รัฐบาลในอดีตบางชุดใช้อำนาจเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ โดยผ่านทางวุฒิสภาการเปลี่ยนแปลง สว.ใหม่ มีผลกระทบสำคัญต่อการเมืองของประเทศอย่างแน่นอน แม้ สว.ใหม่จะยังมีอำนาจขัดขวางไม่ให้ สส.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป แต่ยังมีอำนาจร่วมประชุมร่วมกับ สส. ในการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศแม้บทเฉพาะกาล ม.๒๗๒ จะถูกยกเลิกไป สว.ไม่มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ สว.ยังมีอำนาจตาม ม.๒๕๖ ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.อย่างน้อย ๑ ใน ๓ คือ ๖๗ เสียงขึ้นไป มิฉะนั้นการแก้ไขจะตกไป แม้จะได้รับความเห็นชอบจาก สส.๕๐๐ เสียงทั้งสภา นี่คือความพิกลพิการที่ยังอยู่.คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม