วันศุกร์, 10 พฤษภาคม 2567

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาไขปริศนาขากรรไกรสัตว์เลื้อยคลานในทะเล

22 เม.ย. 2024
20

ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ พอล เดอ ลา ซาล นักสะสมซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล ค้นพบฟอสซิลกระดูกขากรรไกรสัตว์ชนิดหนึ่งบนชายฝั่งลิลสต็อก มณฑลซัมเมอร์เซ็ต ทางตะวันตกเฉียงใต้อังกฤษ นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่าเป็นขากรรไกรที่เรียกว่า เซอแรงกูลาร์ (surangular) ของอิกทิโอซอร์ (Ichthyosaur) สัตว์เลื้อยคลานทางทะเลยุคโบราณ สร้างความตื่นเต้นไม่น้อย เนื่องจากขนาดขากรรไกรบ่งชี้ว่ามาจากอิกทิโอซอรัสที่ใหญ่กว่าตัวอื่นๆที่เคยรู้กัน นักบรรพชีวินวิทยาจึงเฝ้ารอการไขคำตอบเดิม จนกระทั่งในปี ๒๕๖๓ จัสติน เรย์โนลด์ส และ รูบี ลูกสาววัย ๑๑ ขวบของเขา ได้ค้นพบกระดูกขากรรไกรอิกทิโอซอร์ บนชายหาดหมู่บ้านบลู แองเคอร์ มณฑลซัมเมอร์เซ็ต เชื่อว่าจะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับขากรรไกรเซอแรง กูลาร์ที่ พอล เดอ ลา ซาล ค้นพบ ล่าสุด ทีมนักบรรพชีวินวิทยานำโดย ด็อกเตอร์ดีน โลแม็กซ์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอลและมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในอังกฤษเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบ เซอแรงกูลาร์ ที่พอล เดอ ลา ซาล ค้นพบกับเซอแรงกูลาร์ ของอิกทิโอซอรัสที่จัสตินและรูบีค้นพบ ทำให้ระบุได้ว่าขากรรไกรอิกทิโอซอรัสที่พบในปี ๒๕๕๙ มาจากยุคไทรแอสซิก และเป็นสายพันธุ์ใหม่ ได้รับการตั้งชื่อว่า Ichthyotitan severnensis คาดจะมีความยาว ๒๒-๒๖ เมตร อาศัยอยู่ในทะเลยุคไทรแอสซิกเมื่อราว ๒๐๒ ล้านปีก่อน นั่นอาจทำให้มันอาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลที่ใหญ่ที่สุด และอาจเป็นคู่แข่งกับวาฬสีน้ำเงินที่ถือเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีความยาวถึง ๓๐ เมตรทั้งนี้ สัตว์เลื้อยคลานทางทะเลมีอยู่ชุกชุมจนครองมหาสมุทรของโลกในยุคที่ไดโนเสาร์ครองแผ่นดินบนบก ซึ่งอิกทิโอซอรัส วิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษบนบกและเจริญรุ่งเรืองเมื่อประมาณ ๑๖๐ ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อ ๙๐ ล้านปีที่แล้ว พวกมันมีหลายขนาด และรูปร่างหลากหลาย ล่าเหยื่อคือปลา ปลาหมึก รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานทะเลอื่นๆ นอกจากนี้อิกทิโอซอรัส ยังให้กำเนิดลูกเป็นตัวด้วย. อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่