วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

เปิดชนวนตีเมียวดีแตก ศึกชิงเมืองหน้าด่านเศรษฐกิจ

23 เม.ย. 2024
50

การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ ๒๗๕ ในเมียวดี” ส่งผลให้กองทัพเมียนมาส่งกำลังทหารเข้ามาเสริมในพื้นที่โต้ตอบชิงพื้นที่คืนจนเกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะทำให้สถานการณ์ในเมียวดีตึงเครียดจากกองทัพเมียนมาอาจจะตอบโต้หนักหลังจากนี้ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ดุลยภาค ปรีชารัชช รอง ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ให้ฟังว่า ตอนนี้กองกำลัง KNU จับมือกับกองกำลัง PDF และพันธมิตรอื่น “เข้ายึดเมืองเมียวดี” เพราะมีแผนจะควบคุมถนนสายเอเชีย อันเป็นเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” มีจุดเริ่มต้นจากแปซิฟิก ผ่านเวียดนาม เข้าแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว และข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่เขตไทย จ.มุกดาหาร ผ่าน จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก มาสุดที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และเข้าเมียนมาแล้วถนนเส้นนี้ยังเชื่อมต่อ “ทางหลวงไตรภาคีอินเดีย เมียนมา และไทย” ที่เรียกว่า “เส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ” ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และผู้โดยสารเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้กลายเป็นว่าเศรษฐกิจเมียนมาส่วนหนึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาถนนเอเชียแห่งนี้เรื่องนี้เป็นเหตุให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาพยายามบุกโจมตียึดครองเมียวดีอันเป็นเมืองหน้าด่านการค้าชายแดนที่สำคัญของเมียนมา และต้องการควบคุมถนนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ล่าสุดก็มีข่าวเตรียมเข้ายึดเมืองกอกาเลก แต่ด้วยกองทัพเมียนมาก็ไม่ยอมที่จะให้ฝ่ายต่อต้านเข้ายึดเส้นทางนี้เหมือนกันดังนั้น ตอนนี้ “ความขัดแย้งในเมียนมา” เป็นศึกสู้รบปะทะกันทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมาในเขตรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และขยายมารัฐตะนาวศรีบางส่วน ซึ่งล้วนมีแนวชายแดนติดกับประเทศไทยเมื่อไฟสงครามปะทุขึ้นเช่นนี้ “ย่อมกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำเมย” ตั้งแต่ อ.อุ้มผาง อ.พบพระ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และขยายแนวรบไปยัง “รัฐคะยา” ส่งผลกระทบไปถึง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีกด้วยสะท้อนให้เห็นว่า “ฝ่ายต่อต้านระดับปฏิบัติการทางทหาร” ในการช่วงชิงเส้นทางเศรษฐกิจ ตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ด้วยการก่อเหตุวินาศกรรมสิ่งปลูกสร้างทางยุทธศาสตร์ แล้วในช่วงหลังมานี้มีการใช้โดรนกามิกาเซ่โจมตีถล่มจุดสำคัญ ทำให้ฝ่ายทหารเมียนมาต่างเพลี่ยงพล้ำสูญเสียฐานปฏิบัติการหลายแห่ง รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ดุลยภาค ปรีชารัชชจริงๆแล้ว “เขตสมรภูมิรบในเมียวดี” มีกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเมาะละแหม่งโดยมี พล.อ.โซ วิน ผู้นำอันดับ ๒ กองทัพเมียนมา “ลงมาบัญชาการรบ” แต่ฝ่ายต่อต้านก็ใช้โดรนโจมตีจนมีทหารเสียชีวิต “กองทัพเมียนมา” จึงส่งทหารมาสนับสนุนชิงเมียวดี และทวงคืนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกทำให้ระดับการสู้รบไม่ได้อยู่เฉพาะ “เมียวดี กอกาเลก พะอาน” แต่ขยายแนวรบไปรัฐมอญ และมะละแหม่งด้วย แล้วถ้าดูตามแผนที่ประเทศเมียนมาชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน อินเดีย หรือไทย “ฝ่ายต่อต้าน” ก็เข้ายึดครองปิดล้อมรัฐกะยา รัฐคะฉิ่น รัฐชีน และรัฐยะไข่ที่ถูกยึดท่าเรือน้ำลึกเชื่อมต่อท่าเรือจีนด้วยดังนั้น ภาพรวม “กลุ่มต่อต้าน” สามารถเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ตามแนวชายแดนเมียนมาเพิ่มขึ้นมากกว่า ๕๐-๖๐% กลายเป็นการกระชับพื้นที่ปิดวงล้อม “รัฐบาลทหาร” ที่ยังคงเหลือเฉพาะไข่แดงตรงกลางประเทศแต่ถ้าดูเฉพาะพื้นที่ใกล้ชายแดนไทยอย่างเมียวดีตลอดการสู้รบ ๓ ปีมานี้ กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำสูญเสียพื้นที่ไป ๘๐-๙๐% และสูญเสียทหารไปราว ๒ หมื่นนาย ในส่วน “กลุ่มต่อต้าน” มีการสูญเสียอยู่ที่หลักพันคนปัญหามีต่อว่า “เมียวดีเป็นแหล่งธุรกิจชาวจีน” โดยเฉพาะธุรกิจสีเทา และบ่อนการพนันจำนวนมาก ในเรื่องนี้นักลงทุนจีนมีทางเลือกจากการผูกความสัมพันธ์กับกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ดังนั้น เมื่อทหารเมียนมาสูญเสียเมียวดีไปแล้วย่อมมาตกอยู่ในการควบคุมของ KNU และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF)โดยมี “พ.อ.หม่อง ชิตู ผู้นำ BGF” ที่เข้าไปร่วมลงทุนกับจีนเทาสร้างธุรกิจบ่อนกาสิโนในเขตพื้นที่ชเวโก๊กโก่ ริมแม่น้ำเมย ตรงข้าม อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก “มีรายได้มหาศาลจากธุรกิจเหล่านี้” ทำให้กองกำลัง KNU PDF จำเป็นต้องพึ่งพา BGF เพราะมีความสนิทสนมกับกลุ่มจีน และกองกำลังติดอาวุธที่ดูแลชเวโก๊กโก่เช่นนี้แม้ว่า “เมียวดีตกมาอยู่ในการดูแลของกองกำลัง KNU” ก็ยังมีกลุ่ม BGF เป็นตัวเชื่อมต่อคอนเนกชันกับ “ทุนจีน” ทำให้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสีเทาของจีน มีคำถามต่อว่า “ฝ่ายต่อต้านนำอาวุธมาจากที่ใด…?” เรื่องนี้มีแหล่งที่มาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเก่าของเดิมจากในสมัย “สงครามเย็น” ทั้งยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยึดได้จากค่ายทหารเมียนมา แล้วช่วงที่ผ่านมา “รัฐบาล NUG เงา” ได้จัดตั้งหน่วยผลิตอาวุธ และยุทโธปกรณ์ เพื่อใช้ในการสู้รบกับกองทัพเมียนมาเองด้วยการสั่งซื้อนำเข้า “วัสดุ อุปกรณ์ใช้กับพลเรือนทั่วไป” แล้วนำมาดัดประกอบเป็นอาวุธใหม่ เช่น โดรน ปืนยาว ทั้งยังมีอาวุธจากการประสาน “ชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน” เพื่อให้กลุ่มว้าแดงสั่งซื้อมาจากจีนด้วยถัดมาหากวิเคราะห์ “การสู้รบในเมียนมา” สถานการณ์จะยังคงมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายต่อต้าน และทหารเมียนมาลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ แต่อาจจะมีการเจรจาพักรบกันบางพื้นที่ อย่างกรณี “ปฏิบัติการ ๑๐๒๗” สาเหตุกองกำลังชนกลุ่มน้อย “ไม่บุกโจมตีเข้ามัณฑะเลย์” ก็เพราะจีนเข้ามาควบคุมให้มีการเจรจาต่อกันผลสรุปข้อตกลงคราวนั้น “กองกำลังชนกลุ่มน้อย” บริหารจัดการปกครองทางภาคเหนือของประเทศบางส่วนติดชายแดนจีน-อินเดียได้โดยฝ่ายกองทัพเมียนมายอมถอนกำลังออกจากพื้นที่ทั้งหมด แลกกับการไม่ขยายการโจมตีมัณฑะเลย์ หรือพื้นที่อื่นเพิ่มเติม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นสันติภาพชั่วคราวสามารถเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่เช่นเดียวกับสถานการณ์ในเมียวดี “หากฝ่ายต่อต้านสู้รบจนกระสุน และกำลังคนหมด” ก็อาจจะหันมาเจรจาขอพักรบชั่วคราว “เว้นได้ชัยชนะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” ก็อาจรุกคืบขยายแนวสู้รบไปประชิดใจกลางประเทศก็เป็นไปได้ ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับผลการสู้รบที่ต้องเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันต่อไปจริงๆแล้วสถานการณ์นี้ “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเมียนมา” ค่อนข้างกังวลจนต้องตั้งรับแก้เกมใหม่ “ด้วยการลดขอบเขตการปฏิบัติการทางทหาร” แล้วเคลื่อนย้ายเข้ามารักษาการในเนปิดอว์ และเมืองใจกลางของประเทศ ส่วนชายแดนจะตอบโต้เฉพาะพื้นที่สำคัญ เช่น กอกาเลก เมียวดี เพราะเป็นเส้นเลือดทางเศรษฐกิจ เช่นนี้จะทำให้ “รัฐบาลทหารเมียนมา” สามารถปกครองต่อไปได้เพียงแค่ขอบเขตการควบคุมจะเล็กลง แต่ในแง่เกมการเมืองเชื่อว่า “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” มีแผนจะยื่นไพ่ใบสุดท้ายในการประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยเป็นเอกภาพให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยเมื่อถึงวันนั้น “ฝ่ายต่อต้าน” จะแตกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ๑.ฝ่ายอยากลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อขอเกลี่ยโควตาในการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองทหาร ทำให้พลังการต่อต้าน และแรงกดดันทหารลดน้อยถอยลงส่วนกลุ่มที่ ๒.ฝ่ายไม่สนใจกับการเลือกตั้ง แต่มุ่งมั่นขับไล่รัฐบาลทหารออกจากการเมือง แต่ด้วยประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วอาจนำไปสู่ “การปราบปราม” ต้องถูกกล่าวหาให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายก็ได้อย่างไรก็ตาม “การเลือกตั้ง” คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปีนี้ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องจัดการให้ประเทศเกิดความสงบเรียบร้อยกว่านี้เสียก่อนทำให้รัฐบาลเมียนมาอาจจะประกาศจัดการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๘ ก็ได้นี่คือสถานการณ์ “การสู้รบในเมียนมา” อันมีความเป็นไปได้ว่ากองทัพเมียนมาจะปฏิบัติการทางทหารโต้ตอบอย่างหนักหน่วง เพื่อชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญกลับคืน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม