วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

กลิ่นตะวันออกไม่จาง

24 เม.ย. 2024
17

สิ่งปลูกสร้างหรือสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ต่างๆเปรียบเสมือนบันทึกที่เก็บเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาผู้เขียนใช้เวลาวันหยุดช่วงสงกรานต์ไปลัดเลาะเที่ยวชมนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน จุดมุ่งหมายที่พลาดไม่ได้เลยคือการเยี่ยมชม “เดอะ บันด์” (The Bund) หรือที่เรียกกันในภาษาจีนว่า “ไว่ทัน” พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำหวงผู่ ความยาว ๑.๕ กิโลเมตร นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเซี่ยงไฮ้แล้ว ยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของความพัฒนาและความรุ่งเรืองของนครเซี่ยงไฮ้มากกว่า ๑๐๐ ปี ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเช่นกันเมื่อปรายตามองไประหว่างทาง ก็พบกับเมืองที่รายล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปหลากรูปแบบ เช่น โกธิค บารอค โรมาเนสก์และเรอเนสซองส์ หากถามว่าทำไมนครเซี่ยงไฮ้จึงมีสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกตั้งตระหง่านอยู่ทั่ว นั่นเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากประวัติศาสตร์จีนในช่วงราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน ที่พ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ ๑ ให้กับอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นอังกฤษได้นำเข้าใบชาจากจีนเป็นจำนวนมาก แต่จีนไม่ยอมเปิดเสรีทางการค้าให้แก่ชาติตะวันตก ทำให้อังกฤษไม่สามารถนำสินค้ามาขายให้แก่จีนได้อย่างเสรี ก่อนจะทำกำไรจากการขายฝิ่นให้แก่ชาวจีนได้อย่างมหาศาล ส่งผลให้ชาวจีนเสพติดฝิ่นขนาดหนักจนเกิดเป็นสงครามฝิ่น และท้ายที่สุดจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จีนได้ลงนามในสนธิสัญญานานกิงเมื่อปี ค.ศ.๑๘๔๒ เพื่อยุติสงครามกับอังกฤษ บังคับให้เปิดเมืองท่า ๕ แห่ง ได้แก่ กวางโจว เซี่ยเหมิน ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ส่งผลให้ชาวอังกฤษเข้ามาพำนักและทำธุรกิจได้ ส่วนชาติตะวันตกอื่นๆอย่างฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ก็ได้รับสิทธิประโยชน์ในเวลาต่อมาเช่นกัน เราจึงได้เห็นอิทธิพลของชาติตะวันตกแผ่ขยายเข้ามาและยังคงหลงเหลืออยู่ในจีนอย่างอาคารต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นในเดอะ บันด์ในช่วงที่เซี่ยงไฮ้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตกจวบจนปัจจุบันแม้บรรยายกาศโดยรอบจะมีกลิ่นอายความเป็นตะวันตกด้วยสิ่งปลูกสร้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นไม่ได้กลบความเป็นตะวันออกของจีนแต่อย่างใด ทั้งผู้คนที่เดินขวักไขว่บนท้องถนน ร้านรวงต่างๆที่ติดป้ายโฆษณาด้วยตัวอักษรจีน รวมถึงเสียงพูดคุยด้วยภาษาจีนอย่างออกรส ที่พุ่งเข้ามาหาแทบตลอดเวลาแม้ผู้เขียนจะไม่ใช่คนจีนก็ตาม.ญาทิตา เอราวรรณคลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม