วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

ก้าวไกล ขอรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ มอง มีปัญหา เสี่ยงทำรัฐธรรมนูญใหม่สะดุด

24 เม.ย. 2024
20

“ไอติม พริษฐ์” สส.ก้าวไกล ขอรัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา มอง มีปัญหาและเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่สำเร็จ แนะ ใช้คำถามหลักของประชามติครั้งแรกที่เปิดกว้างวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๗ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุในส่วนหนึ่งว่า หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ รัฐบาลแถลงเห็นชอบในหลักการให้เริ่มต้นเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเส้นทางประชามติ ๓ ครั้ง ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ตั้งโดยรัฐบาล และนำโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ โดยให้มีการจัดประชามติครั้งที่ ๑ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๖๗ ด้วยคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด ๑ (บททั่วไป) และหมวด ๒ (พระมหากษัตริย์)?”นายพริษฐ์ ระบุต่อไปว่า ในขณะที่เรารอการเผยแพร่มติ ครม. สู่สาธารณะ และรอการออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ ตนและพรรคก้าวไกลจึงขอย้ำอีกรอบให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเรื่องคำถามประชามติดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นคำถามที่มีปัญหา และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงและไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะอธิบายเป็น ๓ ข้อ ว่า๑. คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่ประชามติครั้งแรกจะไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน เนื่องจากเป็นคำถามที่มีการยัดไส้เงื่อนไข หรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม๒. คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาเชิงกฎหมาย๓. คำถามประชามติของรัฐบาล เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างได้ และไม่สะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนในสังคมได้อย่างแท้จริงอย่างไรก็ตาม ข้อกังวลทั้งหมดที่เรามีต่อคำถามประชามติ เป็นข้อกังวลที่เราได้พยายามสะท้อนต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อการทำประชามติแต่ละครั้งคาดว่าจะใช้งบประมาณ ๓,๐๐๐+ ล้านบาท และต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย ๓-๔ เดือน เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะออกแบบคำถามประชามติที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงโดยไม่จำเป็น“เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ผมและพรรคก้าวไกลจึงขอเสนออีกครั้งก่อนที่จะสายเกินไป ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนและหันมาใช้คำถามหลักของประชามติครั้งแรกที่เปิดกว้าง เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?” ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกคำถามประชามติที่ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ของรัฐบาลเอง นำโดย คุณนิกร จำนง เคยได้เสนอให้คณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ”