วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

เส้นใยรักษ์โลกจากญี่ปุ่น

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะ “Fast Fashion” หรือ “แฟชั่นสายด่วนชนิดมาไวไปไว” ที่สร้างสีสัน ความงาม ทันสมัย และสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบ “ด้านลบ” ต่อสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก ตั้งแต่กระบวนการผลิต ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงถึง ๑๐% ของมวลมนุษยชาติ ยังใช้น้ำปริมาณ มหาศาล รวมทั้งสร้างมลพิษให้แก่แม่น้ำลำธารและแหล่งน้ำธรรมชาติ ไปจนถึงปริมาณ “ขยะ” ของเสียเหลือคณานับจากบรรดาเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งแล้วมากกว่า ๙๒ ล้านตันต่อปี เป็นสถิติที่ชวนช็อก เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ต้องแก้ไขหลายฝ่ายจึงริเริ่มลงทุนลงแรงหาแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมุ่งหน้าสู่แนวคิด “แฟชั่นรักษ์โลก” แบบยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หวังลดมลพิษ โดยหนึ่งในบริษัทเอกชนที่วิจัยพัฒนาจากห้องทดลองในญี่ปุ่น จนได้นวัตกรรมเพื่อแฟชั่นยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ “Spiber” สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นสัญชาติญี่ปุ่น ผู้นำนวัตกรรมการผลิต “เส้นใยโปรตีนจากพืช” หรือ “Brewed Protein™” เป็นความหวังใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่นจากการพูดคุยเป็นเวลาสั้นๆ ขณะเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ครบรอบ ๖๔ ปี และวันชาติญี่ปุ่น เมื่อ ๙ ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของ “Spiber” เผยกระบวนผลิตเริ่มตั้งแต่การตัดแต่งพันธุกรรมจุลินทรีย์ในห้องแล็ปที่ญี่ปุ่น จากนั้นจึงนำจุลินทรีย์ที่ได้กลับมาเมืองไทยเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน ใช้เวลาประมาณ ๖ วัน จึงได้เป็นโปรตีน นำมาสกัดและอบแห้งเป็นผง และจัดส่งกลับไปที่ญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยและทอเป็นเส้นด้ายตามลำดับ จากนั้นจะส่งต่อไปให้ทางแบรนด์ที่คอลแลป หรือทำงานร่วมกัน ผลิตเป็นคอลเลกชันเสื้อผ้าผลิตจากเส้นใยโปรตีนต่อไปSpiber เผยว่าเนื้อผ้าที่ได้จากเส้นใยโปรตีนมีหลากหลายเนื้อสัมผัส มีทั้งใกล้เคียงกับขนสัตว์ก็สามารถทำได้ ทำให้ไม่ต้องใช้ขนจากสัตว์จริงๆ ยังใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่าเสื้อผ้าหรือเส้นใยตามกระบวนตามปกติ นอกจากนี้ เส้นใยที่ได้ยังคุณภาพสูง แข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบาและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติไม่ก่อมลพิษขยะท่วมโลกขณะที่ปัจจุบัน Spiber คอลแลปกับ ๔ แบรนด์ระดับโลก ได้แก่ The North Face, Goldwin, nanamica และ Woolrich น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย แต่ยืนยันว่าอยู่ในแผนอนาคตอันใกล้.อมรดา พงศ์อุทัยคลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม