วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

“ทิพยวารีวิหาร” บ้านหม้อ อีกหนึ่ง “ตำนาน” วัดจีน ๑๐ บ้านหม้อ

10 มี.ค. 2024
66

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสติดตามน้องๆชาวชมรม “มูเตลู” ของกองบรรณาธิการไทยรัฐ ไปกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดอันเป็นที่เคารพนับถือของพี่น้องชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนแห่งหนึ่งในย่านบ้านหม้อ พาหุรัด ด้วยความอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่งแม้โดยส่วนตัวหัวหน้าทีมจะเป็นคนที่เชื่อมั่นและยึดถือในหลักการแห่งวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด แต่ในฐานะที่เติบโตมากับสังคมไทยที่ยังมีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และยังฝากชีวิตไว้กับดวงดาวต่างๆ หัวหน้าทีมก็จะยึดหลัก “ไม่เชื่อแต่ก็ไม่ลบหลู่” เข้าสมัครเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของน้องๆชมรมมูเตลู และร่วมเดินทางไปสักการะสิ่งที่น้องๆเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอๆล่าสุดน้องๆบางคนที่เกิด “ปีชง” และจำเป็นต้อง “แก้ชง” ตามความเชื่อถือของคนจีน…ได้จัดโปรแกรม “แก้ชง” ขึ้น โดยจะเดินทางไปทำพิธี ณ วัดจีนวัดหนึ่งปกติแล้ววัดจีนที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องแก้ชงได้แก่วัด มังกรกมลาวาส หรือวัด เล่งเน่ยยี่ ที่ถนนเจริญกรุงนั่นเอง เป็นที่รับรู้และเชื่อมั่นเชื่อถือระบือไปไกลถึงประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นตำรับเสียด้วยซ้ำแต่ที่น้องๆพูดถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลับเป็นวัดจีนชื่อแปลกๆที่โดยส่วนตัวหัวหน้าทีมซอกแซกไม่เคยได้ยินมาก่อน จึงอดที่จะถามน้องๆเสียมิได้ว่า ทำไมจึงเลือกวัดนี้ล่ะ? ก็ได้รับคำตอบว่า ได้รับคำแนะนำโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญสายมูตัวจริงเสียงจริงที่มีความสนิทสนมกับน้องๆสายข่าวบันเทิงของพวกเรา ยืนยันว่าเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งและมีชื่อเสียงมานานมากแล้วในหมู่พี่น้องชาวจีนย่านเยาวราช สำเพ็ง มาจนถึงพาหุรัด บ้านหม้อ และ ฯลฯได้แก่ วัดกัมโล่วยี่ หรือวัด “ทิพยวารีวิหาร” เลขที่ ๑๑๙ ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร เยื้องๆกับ ดิโอลด์สยาม เลยเฉลิมกรุง ไปหน่อยเดียวเป็นวัดจีนเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีโน่นทีเดียว หากว่ากรุงเทพมหานครของเราปีนี้มีอายุครบ ๒๔๒ ปี วัดจีนวัดนี้ก็ต้องเก่าหรืออายุมากกว่านั้นเพราะสร้างขึ้นก่อนดังกล่าวพอได้ยินคำอธิบายสั้นๆเช่นนั้น หัวหน้าทีมซอกแซกก็รีบส่งรายชื่อตนเองพร้อมผู้ติดตามขอเข้าร่วมขบวนไปสักการะด้วยทันที เมื่อสายๆ วันศุกร์ที่ ๑ มีนาคมที่ผ่านมาหัวหน้าทีมซอกแซกไปตั้งหลักที่ศูนย์การค้า ดิโอลด์สยาม และจอดรถไว้ที่นั่น ซึ่งแม้จะต้องเสียค่าจอดบ้าง แต่สนนราคาอยู่ในเกณฑ์พอรับได้ และที่สำคัญคือ สะดวกที่สุด แค่เดินออกมายืนหน้าศูนย์การค้าด้านถนนตรีเพชร ก็จะมองเห็นประตูเข้าตรอกวัด ทิพยวารีวิหาร อยู่ใกล้ๆนั่นเอง ข้ามถนนไปหน่อยเดียวก็ถึงแล้วตัวอาคารวัดมองจากด้านนอกเหมือนไม่กว้างเท่าไรนัก แต่พอเดินเข้าสู่ บริเวณวัด ซึ่งสร้างเป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างสำหรับเป็นที่จอดรถของวัด และเป็นห้องน้ำสำหรับผู้มาสักการะตัววัดและโบสถ์จะอยู่ชั้น ๒ ซึ่งจะต้องขึ้นบันไดที่สร้างเป็น “มังกรสีเขียว” ข้างๆราวเหล็กสำหรับยึดเกาะให้เดินขึ้นไปสู่ชั้นบนระหว่างขึ้นบันไดมังกรนั้นเอง ก็นึกขึ้นมาได้ว่า วัดนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งเป็นที่ติดปากของชาวบ้านทั่วไปว่า “วัดมังกรเขียว” เพราะจะมีเทพเจ้ามังกรเขียวที่ชาวจีนแต้จิ๋วเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าคอยดูแลอ่างน้ำศักดิ์สิทธิ์ของวัดที่อยู่ข้างประตูเข้าพระอุโบสถนั้นเองเมื่อขึ้นไปถึงข้างบนแล้ว ก็จะพบรูปปั้น เทพเจ้ามังกรเขียว เป็นองค์แรกอยู่ด้านซ้ายมือ จากนั้นก็จะเป็นตู้บูชา ตู้เซียมซี และตะเกียงน้ำมัน ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้แก้ชงวางอยู่ครบครันเดินไปหน่อยหนึ่งแล้วเลี้ยวซ้ายจะเป็นประตูเข้าสู่พระอุโบสถ และเมื่อเดินเข้าไปก็จะพบกับการตกแต่งด้วยศิลปะจีนอย่างงดงามเป็นระเบียบ พร้อมพระพุทธรูป ๓ องค์ อันได้แก่ พระศรีศากยมุนี (องค์กลาง) พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาตถาคต (องค์ซ้าย) และพระอมิตาภพุทธเจ้า (องค์ขวา) ตามความเชื่อถือของชาวจีน ประดิษฐานอย่างโดดเด่นอยู่เบื้องหน้าเกือบ ๑ ชั่วโมง ที่คณะของเรานั่งฟังเสียงสวดมนต์และถวายภัตตาหารเจ ตลอดจนสังฆทานต่างๆแด่พระภิกษุจีน ต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ นับเป็นบรรยากาศที่แปลกใหม่แต่ก็แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายของความขลัง และทำให้จิตใจสงบนิ่งไปกับเสียงสวดมนต์ที่อาจไม่คุ้นหูอยู่บ้าง จน กระทั่งพิธีจบลงหลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปทำกิจกรรมตามประสงค์ของแต่ละคนจนได้เวลาอันสมควรจึงกลับไปที่ ดิ โอลด์สยามเพื่อรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน โดยมีท่านรองหัวหน้ากองบรรณาธิการ คุณเพ็ชรากรณ์ วัชรพล เป็นเจ้าภาพเช่นเคยสำหรับประวัติย่อๆของวัดทิพยวารีวิหาร (บ้านหม้อ) สรุปได้ดังนี้วัดทิพยวารีวิหาร หรือ วัดกัมโล่วยี่ สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี แต่เดิมเคยเป็นวัดญวน เพราะบริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่ของคนญวนและจีนในยุคโน้นต่อมากลายเป็นวัดร้างอยู่หลายปี หลังจากชาวญวนอพยพกลับประเทศบ้างหรือย้ายไปที่อื่นบ้าง จนกระทั่งถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีพระภิกษุจีน พระอาจารย์ ไห ซัน มาพำนักและเชิญชวนคหบดีในบริเวณดังกล่าวบูรณะกลับมาเป็นวัดอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และตั้งชื่อใหม่ว่า กัมโล่วยี่ เป็นวัดจีนโดยสมบูรณ์นับแต่นั้นมาส่วนชื่อไทยว่า ทิพยวารี นั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงช่วยตั้งให้ ซึ่งก็นำมาจากบ่อน้ำทิพย์ที่อยู่คู่วัดนี้มาตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรีก็ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ทั้งหลายแวะไปเยี่ยมเยือนหรือไปบำเพ็ญบุญกุศลตามแต่ศรัทธาที่วัดนี้บ้าง เมื่อมีโอกาส จะขอโน่นขอนี่อย่างไรก็สุดแต่ใจท่านเถิด แต่สำหรับหัวหน้าทีมซอกแซกประทับใจมากในความงดงามความเก่าแก่ที่ย้อนอดีตไปไกลถึงกรุงธนบุรี จึงอิ่มเอมใจกลับมาดังที่กราบเรียนไว้ ตั้งแต่ย่อหน้าแรกด้วยประการฉะนี้.“ซูม”คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม