วันศุกร์, 10 พฤษภาคม 2567

ศึกษาฟอสซิลกิ้งก่าทะเลยักษ์ที่มีฟันคล้ายกริช

13 มี.ค. 2024
28

สัตว์เลื้อยคลานทะเลหลากหลายชนิดเคยอาศัยในโมร็อกโก ก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนคาบสมุทรยูคาทาน ในเม็กซิโก ฝุ่นและอนุภาคจิ๋วพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในระดับสูง บดบังแสงจากดวงอาทิตย์เป็นเวลาหลายเดือน ทำให้โลกมืดและเย็น ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในโลกสูญพันธุ์ เมื่อไดโนเสาร์บนบกถูกกวาดล้าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก กิ้งก่าจำนวนหนึ่งยังมีชีวิตก็เข้ามาแทนที่ สถานการณ์เดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในมหาสมุทรเช่นกันเมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษ เผยว่า การศึกษาซากฟอสซิลกะโหลกศีรษะและชิ้นส่วนของโครงกระดูกที่ได้มาจากเหมืองฟอสเฟตทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองคาซาบลังกา ในโมร็อกโก ทำให้ค้นพบ “กิ้งก่าทะเลโบราณสายพันธุ์ใหม่” ที่มีฟันคล้ายกริช มีชื่อว่า Khinjaria acuta อยู่ในวงศ์โมซาซอร์ (mosasaurs) ซึ่งโมซาซอร์ไม่ใช่ไดโนเสาร์ แต่เป็นกิ้งก่าทะเลยักษ์ ญาติของมังกรโคโมโดและอนาคอนดาในปัจจุบัน โมซาซอร์ครองมหาสมุทรเมื่อ ๖๖ ล้านปีก่อน ในยุคของไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส (Tyrannosaurus) และไทรเซอราทอปส์ (Triceratops)ทีมเผยว่า Khinjaria acuta อาศัยอยู่ในช่วงใกล้สิ้นสุดยุคไดโนเสาร์ และยังพบว่ายุคครีเตเชียสมีระบบนิเวศในมหาสมุทรแตกต่างไปจากที่เห็นในปัจจุบันอย่างมาก ในช่วงเวลานั้นมีสัตว์นักล่าขนาดยักษ์จำนวนมากกินเหยื่อขนาดใหญ่ ต่างจากระบบนิเวศสมัยใหม่ที่สัตว์นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร มีเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ฉลามขาว วาฬเพชฌฆาต และแมวน้ำเสือดาว.Credit : University of Bathอ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่