Monday, 20 May 2024

๗ วันอันตรายสงกรานต์ ผ่าน ๕ วัน ยอดดับขยับเป็น ๒๐๖ ศพ เข้มจราจร ง่วงให้จอดพัก

16 Apr 2024
21

ศปถ. สรุปสถิติ ๗ วันอันตรายสงกรานต์ ๑๕ เม.ย. ๖๗ เกิดอุบัติเหตุ ๓๐๑ ครั้ง มีผู้เสียชีวิต ๓๙ ศพ ขณะภาพรวม ๕ วัน อุบัติเหตุรวม ๑,๕๖๔ ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิตขยับขึ้นเป็น ๒๐๖ ศพ “หมอชลน่าน” กำชับดูแลจราจรคนเดินทางกลับ ห่วง ความอ่อนล้าขับรถทางไกล ย้ำ ง่วงให้จอดพัก วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๗ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นวันที่ ๕ ของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” สถิติอุบัติเหตุทางถนน วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๗ (๗ วันอันตราย วันที่ ๕)เกิดอุบัติเหตุ ๓๐๑ ครั้งผู้บาดเจ็บ ๓๑๔ คนผู้เสียชีวิต ๓๙ ศพ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดขับรถเร็ว ร้อยละ ๔๓.๑๙ดื่มแล้วขับ ร้อยละ ๒๓.๙๒ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ ๑๕.๒๘ ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๘๓.๘๒ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ ๗๘.๗๔ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ ๓๘.๕๔ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๑.๘๙ ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา ๑๖.๐๑ – ๑๗.๐๐ น. ร้อยละ ๙.๖๓ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ ๒๐-๒๙ ปี ร้อยละ ๑๘.๑๓ จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๑,๗๕๖ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๕๑,๓๘๖ คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (๑๔ ครั้ง)จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (๑๖ คน)จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (๔ ศพ)  สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง ๕ วันของ ๗ วันอันตราย (๑๑-๑๕ เมษายน ๒๕๖๗) เกิดอุบัติเหตุรวม ๑,๕๖๔ ครั้งผู้บาดเจ็บรวม ๑,๕๙๓ คนผู้เสียชีวิต รวม ๒๐๖ รายจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี ๑๗ จังหวัดจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (๖๑ ครั้ง)จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (๖๐ คน)จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเชียงราย (๑๓ ศพ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกลอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน รวมไปถึงให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ อีกทั้งประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงยานพาหนะให้พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุทันที หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน ๑๖๖๙ ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนนอำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาลและรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ และนำส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทางด้าน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี กล่าวเสริมว่า ในวันนี้เส้นทางสายหลักและถนนที่เชื่อมต่อจากภูมิภาคเข้าสู่กรุงเทพมหานครมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ประกอบกับสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ผ่านมาในช่วงวันดังกล่าว มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ศปถ. จึงประสานจังหวัดและอำเภอบูรณาการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น เน้นการทำงานเชิงป้องกัน โดยเฉพาะการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน เริ่มตั้งแต่ด่านชุมชนไปจนถึงด่านหลัก พร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง ทางลัด จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน รวมถึงดูแลความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมในการขับรถอย่างปลอดภัย  ขณะที่ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า วันนี้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มีการเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนดูแลสภาพร่างกายของตนเองให้มีความพร้อมในการขับขี่ และตรวจสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับ ไม่ขับรถเร็ว ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด หยุดพักรถทุก ๑-๒ ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถ เมื่อมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถตามจุดบริการต่างๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ทุกคนเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน จะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ทำให้สภาพถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอฝากเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ๑๗๘๔ (Line ID @๑๗๘๔DDPM) เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.