วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

เติมเต็มสุนทรียะแห่งการเดินทางใน กทม. ด้วย “ทางเท้าดี ทั่วถึง เท่าเทียม” สำหรับทุกคน

18 เม.ย. 2024
18

หลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียได้ตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวในฐานะกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความพยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ คือ การปรับปรุงภูมิทัศน์บ้านเมืองให้สวยงามชวนมอง ที่นอกจากจะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่อง “ทางเท้า” ที่หลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ ให้ความใส่ใจดูแลเป็นอย่างยิ่ง โดยมุ่งเน้นด้าน “ความปลอดภัย” บนทางเท้าเป็นหลัก ซึ่งสามารถดูได้จากลักษณะทางกายภาพของทางเท้าที่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ อีกทั้งประเทศเหล่านี้ยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาทางเท้าให้ตอบสนองกับการเดินทางที่หลากหลายของผู้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้ใช้วีลแชร์ เด็ก หรือคนชรา ทางเท้าที่ดีจึงเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองเหล่านี้เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งสำหรับ กทม.ประชาชน คือ หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนากรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครซิวิไลซ์ที่ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล โดย กทม.มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาเมืองและสร้างความสุขให้แก่ประชาชนทุกคนในกรุงเทพฯ โดยบริหารจัดการด้วยนโยบายเดินทางดี ซึ่ง กทม.มีเป้าหมายที่จะทำทางเท้าทั่วเมืองให้สะอาดและปลอดภัย ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินการปรับปรุงอย่างมาต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมุ่งเน้นปรับปรุงทางเท้าบนถนนหลัก ซึ่งได้ทยอยปรับปรุง ซ่อมแซมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงการปรับปรุงทางเท้าบริเวณรอบรถไฟฟ้าในรัศมี ๑ กม. ที่ตั้งเป้าจะดำเนินการให้ครบทุกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเมืองที่ใช้บริการรถไฟฟ้าได้ใช้ทางเท้าสัญจรไป-มาได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาปรับปรุงคุณภาพทางเท้ากรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องที่ กทม.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งได้ปรับปรุงทางเท้าไปแล้วกว่า ๓๐๐ กม. จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ๑,๐๐๐ กม. โดยมุ่งเน้นปรับปรุงทางเท้าเพื่อให้ทุกคนได้ใช้งานสะดวก ปลอดภัยและมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งลดระดับคันหินรางตื้นสูง ๑๐ ซม. เปลี่ยนพื้นฐานทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เพิ่มทางเลือกวัสดุปูทางเท้า แอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย ปรับความลาดเอียงของทางเชื่อม และทางลาดเป็น ๑:๑๒ ตามมาตรฐานสากล ปรับทางเข้า-ออก อาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า สามารถเดินได้อย่างต่อเนื่อง มีการวางเบรลล์บล็อก (Braille Block) ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา มีช่องรับน้ำหน้าคันหินเปลี่ยนจากช่องตะแกรงรับน้ำในแนวตั้งเป็นแนวนอนเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ และมีการวางแนวทางการจัดวางตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า นอกจากนี้ กทม. ยังได้ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงทางเท้าในจุดที่ชำรุด เช่น กระเบื้องแตก เป็นหลุมบ่อ เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชน นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่สำรวจและปรับปรุงทางเท้าอย่างต่อเนื่องจากแผนงานในปีก่อนที่จะปรับปรุงทางเท้า-ทางเดิน ๑๖ เส้นทาง ระยะทาง ๘๖ กม. ทั้งปรับปรุงกระเบื้อง ผิวทางเท้าให้เรียบ นำสิ่งกีดขวางออกจากทางเท้า ซึ่งปัจจุบันในหลายพื้นที่มีการดำเนินงานที่คืบหน้าไปมาก ดังเช่นที่บริเวณ ซ.อุดมสุข-ศรีนครินทร์ ระยะทาง ๔.๐๓ กม. ดำเนินการไปแล้วร้อยละ ๗๐ มีการปรับท่อระบายน้ำแบบใหม่ ทางเท้าใหม่ พร้อมกับเพิ่มไฟ LED ตลอดเส้นทาง อีกจุดบริเวณ ซ.สรรพาวุธ ๑- วัดบางนานอก ระยะทาง ๒.๐๗ กม. ดำเนินการแล้วร้อยละ ๗๖ มีการปรับทางข้ามให้ลาดเอียง เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์ใช้งานได้สะดวกขึ้น ขณะที่บริเวณ ถ.พระราม ๔ แยกศาลาแดง หัวลำโพง ระยะทาง ๒.๓ กม. ดำเนินการไปแล้วร้อยละ ๕๐ ด้าน ถ.เพลินจิต แยกราชประสงค์-ทางรถไฟสายท่าเรือ ระยะทาง ๑ กม. ดำเนินการแล้วร้อยละ ๘๐ ส่วนฝั่ง ถ.ราชดำริ แยกราชประสงค์-แยกศาลาแดง ระยะทาง ๑.๗ กม. ดำเนินการไปแล้วร้อยละ ๗๐ ซึ่งหลายจุดที่ กทม.ได้ปรับปรุงจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ได้อีกด้วยการเดินทางดีสำหรับทุกคนที่ทั่วถึงและเท่าเทียม กทม. ยังได้วางแผนที่จะปรับปรุงทางเท้าให้ดีขึ้นในทุกมิติ โดยดำเนินการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าได้ถึง ๑๔๐ จุด โดยยุบ รวม ย้ายผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน มีการจัดหาที่ทำการค้าแห่งใหม่รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ ช่วยประสานตลาด/ที่เอกชนเพื่อรองรับผู้ค้า กวดขันหาบเร่แผงลอยที่ยังทำการค้าให้อยู่ในระเบียบและมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงจัดทำทะเบียนควบคุมการเพิ่มจำนวนผู้ค้าโดยใช้ QR Code ตรวจสอบตัวจริง ตลอดจนการจัดหาที่ทำ Hawker Center ช่วยผู้ค้ามีพื้นที่ค้าขายที่เหมาะสม เป็นระเบียบ ซึ่งล่าสุด กทม.ได้เปิด Hawker Center ริมคลองบางลำพู ไปแล้ว เมื่อต้นปี ๒๕๖๗ และยังผลักดันจุดอื่นเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งสวนลุมพินี บริเวณลานจอดรถประตู ๕ หรือบริเวณคลองหลอดข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เป็นต้น ซึ่งแต่ละเขตได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยหาพื้นที่ร่วมกับเอกชนแต่ยังไม่เต็มรูปแบบ คาดว่าในอนาคตจะขยายโครงการออกไปอีกหลายพื้นที่ ไม่เพียงแค่ปรับปรุงทางเท้าริมถนนหลักเท่านั้น แต่เมืองยังได้รับการดูแลและปรับลานทางเดินเลียบคลองให้มีความสะดวกมากขึ้น เช่น ทางเดินเลียบคลองแสนแสบ เพื่อให้ทุกๆ คนได้เข้าถึงทางเดินที่ปลอดภัยและเท่าเทียม อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางให้กับชาวกรุง โดยจัดเทศกิจดูแลการจราจร ๘๙๐ จุด ทุกวัน รวมถึงติดตั้ง CCTV กวดขันวินัยจราจร รวม ๓๐ จุด ซึ่งพบว่ามีผู้ทำผิดกว่า ๔๐๐ ราย ซึ่งในระยะต่อไป กทม.จะรับฟังเสียงการเสนอเส้นทางจากอาสาสมัครนักวิ่ง พร้อมเข้าซ่อมแซมเป็นจุด และย้ายสิ่งกีดขวางออกจากทางเดิน เพื่อการทำ BKK Trail ๕๐๐ กม.ทุกวันนี้ แต่ละเขตใน กทม. ยังคงดำเนินการจัดระเบียบทางเท้าในพื้นที่อย่างเข้มงวด เพื่อให้ชาว กทม. ทุกคนได้ใช้ทางเท้าที่เป็นทางสาธารณะได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งหากชาว กทม. พบเห็นปัญหาทางเท้าในพื้นที่ใดก็ตาม สามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนมาได้ในแพลตฟอร์ม Traffy fondue หรือ สายด่วน กทม. ๑๕๕๕ ยินดีรับฟังและพร้อมปรับปรุงทางเท้าให้ดียิ่งขึ้น ทางเท้ารอบ กทม. ที่มีอยู่ราว ๖,๐๐๐ กม. แม้จะยังมีอีกหลายจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่อีกมาก แต่เชื่อว่าปัจจุบันทางเท้าดีขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งปัญหาทางเท้าไม่ใช่เพียงแค่ กทม. จะแก้ไขปรับปรุงอยู่เพียงลำพังเท่านั้น หากยังต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของชาว กทม. ทุกๆ คน เห็นพ้องในปัญหาร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนสังคมเมืองได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมแนะนำ เชื่อว่าปัญหาทางเท้าใน กทม. จะค่อยๆ คลี่คลาย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จนสามารถเปลี่ยนโฉมกรุงเทพมหานครให้ก้าวไปสู่เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน.