Saturday, 27 July 2024

"อู๊ดด้า" ขนานนาม "งบประมาณฉบับเป็ดง่อย" อัดเจ็บ “นักกู้ถุงเท้าสีชมพู”

03 Jan 2024
105

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขนานนาม งบฯ ๖๗ รัฐบาลเศรษฐา งบประมาณฉบับเป็ดง่อย เอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ซัด เคยวิจารณ์รัฐบาลที่แล้ว “นักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เที่ยวนี้ “นักกู้ถุงเท้าสีชมพู” วันที่ ๓ ม.ค. ๒๕๖๗ ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ วันนี้เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลที่หาเสียงและแถลงต่อรัฐสภาไว้นั้นเป็นจริงได้ในส่วนที่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงิน แม้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนเพื่อนสมาชิกหลายคนได้ออกไปให้สัมภาษณ์ แต่ผมขออนุญาตเรียนว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ ถ้ารัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ก็ยุบสภา แต่ผมเชื่อว่าเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องระดมผู้แทนราษฎรสังกัดฝ่ายบริหาร มาลงคะแนนให้ครบจนได้ แล้วก็เชื่อว่ากฎหมายงบประมาณฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการวาระแรกนี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ มีเสียงข้างมากโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึง ๓๑๔ เสียง ถ้าเกิดไม่ผ่านผมว่าท่านนายกฯ ต้องเลิกใส่ถุงเท้าแดงได้แล้วอย่างไรก็ได้ ผมขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานครับ ว่า รัฐบาลก็มีหน้าที่ในการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ทั้งตัวงบประมาณและผู้ใช้งบประมาณ ซึ่งหมายถึงตัวนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ท่านนายกฯ อ่านเมื่อเช้าทุกอย่างดีหมด แต่ผมจะขอพูดคนละเวอร์ชันกับท่านนายกฯ เพื่อทำหน้าที่ของผมในการตรวจสอบ ถ่วงดุล สอบถาม และแสดงความคิดเห็น แต่เนื่องจากเวลาจำกัดก็ขอพูดเฉพาะในภาพรวมไม่ลงลึก เพราะจะมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายท่าน รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นที่จะมาลงลึกในรายละเอียดต่อไปขออนุญาตต่อท่านประธานครับ เริ่มต้นด้วยการกราบเรียนว่า งบประมาณฉบับนี้เป็นฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ เกิดจากการเอางบปี ๖๗ ที่รัฐบาลที่แล้ว คือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มารื้อทำใหม่หมด ซึ่งส่งผลให้ปฏิทินงบปีนี้ล่าช้าไปกว่า ๙ เดือน เหตุผลนอกจากช้าเพราะรัฐบาลชุดนี้ใช้เวลาไปตั้งรัฐบาล “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” ซะหลายเดือน แต่ว่าหลังคณะรัฐมนตรีมีมติที่จะรื้อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลชุดที่แล้วใหม่ ก็ใช้เวลาอีกหลายเดือนเช่นเดียวกันกว่าจะกลับเข้าสู่สภาได้ ทำให้งบประมาณฉบับนี้ไปบังคับใช้เอาประมาณเดือนพฤษภาคม อีก ๔ เดือนกว่าๆ ข้างหน้า เพราะฉะนั้นตรงนี้เลยส่งผลให้งบประมาณฉบับนี้กลายเป็น “งบประมาณฉบับเป็ดง่อย” ที่ผมเรียนว่า เป็ดง่อย เพราะว่างบประมาณทั้งสิ้น ๓,๔๘๐,๐๐๐ ล้านล้าน ๓.๔๘ ล้านล้านบาท รัฐบาลมีเวลาใช้เงินแค่ ๕ เดือนจากปกติ ๑๒ เดือน เท่ากับมีเวลาใช้เงินแค่ ๔๐% และที่สำคัญ ประสิทธิภาพการใช้เงินโดยเฉพาะงบลงทุนที่เป็นหัวใจสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพการใช้เงินถ้าท่านประธานไปดูย้อนหลังเฉลี่ย ๕ ปี มีแค่ประมาณ ๗๐% เพราะเราไปดูจากการกันการเงินเหลื่อมปีประมาณ ๓๐% เพราะฉะนั้นเวลาก็เหลือแค่ ๕ เดือน ประสิทธิภาพก็มีแค่ ๗๐สุดท้ายงบนี้ก็จะกลายเป็นงบเป็ดง่อย อย่างที่ผมกราบเรียน ไม่สามารถเอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลวาดหวังว่าได้เต็มร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนใช้งบประมาณ รัฐบาลชุดนี้ตอนนี้คณะรัฐมนตรีมี ๓๔ คน โลกลืมไปสักกี่คนครับ ท่านประธานครับ สองมือรวมกัน นิ้วยังมีไม่พอให้นับ นี่คือสิ่งที่ขออนุญาตกราบเรียนให้ท่านประธานได้เห็นภาพนายกรัฐมนตรี พยายามตีปี๊บว่า เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ ต้องเร่งเศรษฐกิจกันขนาดใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน งบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง เพราะมีผลต่อ GDP ถึงร้อยละ ๑๘ แล้วถ้างบประมาณแผ่นดินกลายเป็นเป็ดง่อยแล้วจะไปดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตตามเป้าหมายได้อย่างไร อย่างที่เรียนเมื่อสักครู่ ที่สำคัญหลังท่านนายกฯ สั่งรื้องบ หลังท่านนายกฯ ไปมอบนโยบาย ๕ ข้อ ให้ทำงบประมาณใหม่กลับมาสภาวันนี้ ผมเรียนท่านประธานตรงๆ ไม่มีอะไรใหม่ เหมือนท่านผู้นำฝ่ายค้านพูด แล้วก็หลายเรื่องแย่กว่าเดิมผมจะขออนุญาตฉายภาพให้ท่านประธานเห็นในเวลาจำกัด ๔ ประเด็น ประเด็นที่ ๑ กลับมาปรากฏว่างบฉบับนี้ขาดดุลเหมือนเดิม และผมเรียนไว้ล่วงหน้าจะขาดดุลต่อไปอีกตลอดอายุรัฐบาลนี้ ครบ ๔ ปีเต็ม ที่บอกว่าขาดดุลเหมือนเดิม เพราะว่ารัฐบาลกำหนดรายได้ไว้ ๒.๗๘ ล้านล้านบาท รายจ่าย ๓.๔๘ ล้านล้าน ขาดดุล ๖๙๓,๐๐๐ ล้านบาท แล้วที่บอกว่า ๔ ปีจะขาดดุลตลอด ไม่ใช่ผมมโนไปเอง แต่เพราะมันอยู่ในแผนการคลังของรัฐบาลชุดนี้ที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีมติไว้เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๖ ว่า จะทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปจนกระทั่งหมดอายุรัฐบาล ปี ๖๗ ขาดดุล ๖๙๓,๐๐๐ ล้าน ปี ๖๘ จะขาดทุน ๖๙๒,๐๐๐ ล้าน ปี ๖๙ จะขาดทุน ๗๒๑,๐๐๐ ล้าน ปี ๗๐ ปี สุดท้ายจะขาดทุน ๗๕๑,๐๐๐ ล้านบาท นี่คือสิ่งที่ผมขออนุญาตจำเป็นจะต้องฉายให้ท่านประธานเห็นตั้งแต่เบื้องต้นประการที่ ๒ งบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ปีนี้เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนงบลงทุน หัวใจของการกระตุ้นเศรษฐกิจ น้อยกว่าเดิม งบปี ๖๖ ท่านประธานดูใน PowerPoint สัดส่วนการลงทุน ๒๑.๗% มาปีนี้เหลือ ๒๐.๖% ยิ่งดูเม็ดเงินยิ่งมีคำถาม งบ ๖๗ ท่านจัดงบเพิ่มขึ้น เพื่อไปใช้จ่าย ๒๙๕,๐๐๐ ล้านบาท ตัวเลขกลมๆ คือ เพิ่มขึ้น ๓ แสนล้าน แต่ท่านประธานดู เอาไปเพิ่มที่ไหนครับ เอาไปเพิ่มให้งบประจำ ที่เราวิจารณ์กันตลอดว่ามันสูงไป ๓ แสนล้าน เอาไปเพิ่มให้งบประจำ ๑๓๐,๐๐๐ ล้าน คิดเป็น ๔๔% แต่ไปเพิ่มงบลงทุนตัวกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญแค่ ๒๘,๐๐๐ ล้าน เทียบกับ ๑๓๐,๐๐๐ ล้าน ไม่ถึง ๑๐% ของเงินที่เพิ่มขึ้น ๒๙๕,๐๐๐ ล้าน นี่ก็คือสิ่งที่เป็นคำถามว่าแล้วจะไปสนองการกระตุ้นแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามตีปี๊บได้อย่างไรประเด็นที่ ๓ งบกลาง ดูผิวเผินสัดส่วนงบกลางเหมือนลดลง แต่อันนี้มันงบลวงตา เพราะงบกลางรวมๆ ปี ๖๖ ๑๘.๕% ของงบรวม แต่พอมาปี ๖๗ ลดเหลือ ๑๗.๔% แต่ปัญหาก็คือว่าพอไปดูลงลึกไส้ใน งบประมาณตัวที่เป็นงบกลางสำคัญคือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ที่เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนี้บางพรรคที่วิจารณ์รัฐบาลก่อนๆ ไว้เยอะ ปรากฏว่าแทนที่จะลดกลายเป็นเพิ่ม งบ ๖๖ เพิ่มขึ้นจาก งบ ๖๖ จัดไว้ ๙๒,๔๐๐ ล้านบาท พอมา ๖๗ เพิ่มจาก ๙๒,๐๐๐ เป็น ๙๘,๕๐๐ เกือบแสนล้าน “นี่ว่าแต่เขา อิเหนาทำหมดเลยครับ” เพราะฉะนั้นผมต้องพูด ที่พูดเพื่อตอกย้ำว่าแก้อะไรคงไม่ได้หรอก นอกจากวาระ ๒ ไปปรับปรุงกัน แต่ขอย้ำว่า ขอให้ท่านนายกฯ ใช้เงินนี้ให้คุ้มค่า ประหยัด โปร่งใส แล้วก็สุจริตจริงๆประเด็นที่ ๔ ประเด็นสุดท้ายของเรื่องงบประมาณ งบประมาณฉบับนี้ “กลายเป็น เรื่องคิดใหญ่ ทำเป็น แล้วก็กลับมาเป็น คิดกู้ ทำกู้” ที่ผมเรียนว่าคิดกู้ทำกู้ก็เพราะว่างบประมาณ ปี ๖๗ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ รัฐบาลที่แล้วทำไปผ่าน ครม. แล้วด้วยซ้ำ กู้ ๕.๙๓ แสนล้าน แต่พอมารัฐบาลนี้เอาไปรื้อกลับมาใหม่มอบนโยบาย ๕ ข้อกลายเป็นกู้เพิ่มจาก ๕.๙๓ แสนล้านเป็น ๖.๙๓ แสนล้าน กู้เพิ่มขึ้นแสนล้านบาทพวกท่านเคยวิจารณ์รัฐบาลที่แล้วว่าเป็นนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา เที่ยวนี้ผมว่ากลายเป็น “นักกู้ถุงเท้าสีชมพู” ท่านกู้เพิ่มขึ้นแสนล้าน ผมขอถามครับว่าท่านเอาไปทำอะไรครับ ไปแบ่งเค้กกันยังไง ที่กู้เพิ่มมาแสนล้านนี้ เสียเวลาไปทำ ๓-๔ เดือน เฉพาะช่วงปี ๖๗ คือปีนี้รัฐบาลมีแผนกู้เงินไม่น้อยกว่า ๑.๓๕ ล้านล้านบาท ประกอบด้วยอะไรครับ๑. ปรากฏที่อยู่ในงบประมาณ กู้ชดเชยขาดดุลงบ ๖๗ และอื่นๆ ๗.๙๓ แสนล้าน แล้วก็จะกู้ดิจิทัลวอลเล็ตอีก ๕ แสนล้าน ผมใส่มาให้เห็นภาพ เพราะรัฐบาลบอกว่าจะออก พระราชบัญญัติกู้เงิน เพราะฉะนั้นมันต้องอยู่ในนี้ แล้วรัฐบาลบอกจะทำในเดือนพฤษภาคม มันต้องอยู่ในแผนนี้แน่นอน ถ้าสำเร็จ แล้วก็ยังจะต้องกู้ตามมาตรา ๒๘ ก็คือให้แบงก์ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายเงินไปก่อนแล้วรัฐบาลตามมาใช้หนี้ทีหลัง เช่น ไร่ละพันที่จ่ายชาวนาไปอีก ๕๔,๐๐๐ ล้าน ยังไม่นับ xxx ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เอาแค่ ๓ รายการนี้ รัฐบาลนี้จะกู้ ๑,๓๔๗,๗๕๓ ล้านบาท ก็คือ ๑.๓๕ ล้านล้าน นี่ยังไม่รวมดอก คือดอกเบี้ย ปัญหาที่จะตามมาก็คือว่า รัฐบาลก็จะต้องใช้ตั้งงบประมาณใช้หนี้นี้ในปีต่อๆ ไป ทำให้ศักยภาพในการที่จะมีพื้นที่การคลังเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศมันก็จะลดน้อยลง แล้วก็ศักยภาพในการใช้หนี้ของรัฐบาลนี้ไปดูใน พระราชบัญญัติงบประมาณเล่มนี้ รัฐบาลนี้ตั้งงบใช้หนี้เฉพาะเงินต้นอย่างเดียวผมไม่พูดดอกนะครับต้นอย่างเดียว ๑๑๘,๐๐๐ ล้าน นี่คือศักยภาพ ๑๒๐,๐๐๐ ล้าน ตัวเลขกลมๆ มีเท่านี้ แต่หนี้ที่จะก่อ ๑.๓๕ ล้านล้านบาท ถ้ารัฐบาลใช้หนี้ตามศักยภาพนี้ เงินกู้ ๑.๓๕ ล้านล้านบาท หารด้วย ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี รัฐบาลนี้ต้องใช้เวลา ๑๑ ปี ถึงจะแก้ปัญหาหนี้ที่ก่อขึ้นได้ แต่ ๑๑ ปีรัฐบาลนี้ไปสวรรค์แล้วครับ สุดท้ายมันคือการสร้างหนี้ไว้ให้กับคนไทยทั้งประเทศดิจิทัลวอลเล็ตครับ รัฐบาลตั้งงบไว้ตรงไหนครับ ขออนุญาตถาม คงไม่มีเพราะรัฐบาลบอกว่าจะไปกู้ แต่ถ้ากู้ไม่ได้ล่ะจะทำยังไง อย่างไรก็ตาม ขออนุญาตที่จะกราบเรียนว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบก็คือ ๑. รัฐบาลต้องทำให้ได้นะครับเรื่องนี้ เพราะไปหาเสียงไว้เยอะ และผมจะขอทำหน้าที่ทวงถามเรื่องนี้แทนประชาชน ตราบเท่าที่ท่านยังไม่ได้ทำ ท่านผู้นำฝ่ายค้านพูดไว้แล้วเมื่อสักครู่ ท่านนายกฯ บอกว่าเรื่องนี้จะไม่กู้ สุดท้ายตีลังกากลับลำ ๓๖๐ องศา กลายเป็นกู้ เสียงวิจารณ์มาจากทุกสารทิศของประเทศ แต่เขาไม่ได้วิจารณ์เรื่องกู้เป็นหลัก แต่เขาวิจารณ์เรื่องกู้มาแจก หาเสียงสนองนโยบายพรรคการเมืองนี่คือสิ่งที่คนทั้งประเทศเขาเป็นห่วง แล้วก็เพราะเหตุที่รัฐบาลคิดไปคิดมา กลัวว่าถ้าออกพระราชบัญญัติกู้เงินก้อนนี้แล้วจะผิดกฎหมายก็เลยไปถามกฤษฎีกา วันนี้คำตอบยังไม่กลับมาแต่ที่ขอพูดล่วงหน้าก็คือว่า ถ้ากฤษฎีกาบอกว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย หรือสุ่มเสี่ยง อย่าไปโยนบาปให้กฤษฎีกานะครับ เพราะกฤษฎีกาไม่ใช่เจ้าของนโยบายหาเสียงและประการต่อมาถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้ที่จะต้องไปเตรียมแผน ๒ ผมเคยให้สัมภาษณ์ถามว่ารัฐบาลเตรียมแผน ๒ หรือยัง คำตอบคือยัง มันจะยังได้ยังไงครับ ถ้าอยากเกิดกู้ไม่ได้ขึ้นมา ต้องรับผิดชอบทำ แผน ๒ ไม่มีจริงๆ เหรอครับ แต่ถ้าเกิดทำได้ท่านนายกฯ เศรษฐา เคยประกาศไปแล้วว่ารัฐบาลจะตั้งงบประมาณใช้หนี้เองใน ๔ ปี ท่านประธานคงจำได้ ขอถามครับ ที่รัฐบาลเศรษฐาหรือท่านนายกฯ บอกว่าจะอยู่ ๔ ปี ดีแล้วครับ เสียงนินทาเรื่องนายกฯ ๒ คนจะได้ลดลง แต่สำคัญคำถามก็คือว่า ถ้าท่านจะใช้งบใน ๔ ปี ท่านจะใช้หนี้ยังไง งบ ๖๗ ไม่มีงบใช้หนี้ดิจิทัลวอลเล็ตสักบาทเดียว เปิดดูเถอะครับทั้งกี่เล่มเนี่ย เพราะฉะนั้นแปลว่าท่านเหลือเวลาใช้หนี้ ๓ ปีงบประมาณเท่านั้น ถ้าท่านรับผิดชอบต่อคำพูดแล้วท่านอยู่ครบ ๔ ปีเมื่อกี้ผมเรียนแล้วว่าศักยภาพรัฐบาลใช้หนี้ได้ปีนึง ๑๒๐,๐๐๐ ล้าน ยังไม่รวมดอก และการใช้หนี้ปีละ ๑๒๐,๐๐๐ ล้าน ไม่ใช่แค่ใช้หนี้ที่ก่อขึ้นโดยดิจิทัลวอลเล็ต ๕ แสนเท่านั้น ท่านยังมีภาระ ชำระหนี้สะสมที่รัฐบาลเก่าๆ สร้างไว้อีก ๙.๘ ล้านล้านบาท เอาแค่ ๕ แสนล้าน ท่านมีศักยภาพปีละ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาทที่จะใช้หนี้ มันจะเป็นไปได้ยังไง เหลือ ๓ ปีงบประมาณ ผมฟันธงเลยครับ เพราะฉะนั้นที่ท่านนายกฯ บอกว่า จะใช้หนี้ดิจิทัลวอลเล็ต ๕ แสนล้าน ภายใน ๔ ปี โดยรัฐบาลนี้แค่วาทกรรม สร้างความชอบธรรมให้นโยบายหาเสียงท่านประธานครับ เรื่องถัดมาที่ขออนุญาตใช้เวลาตรงนี้กราบเรียนกับท่านประธานก็คือว่า เรื่องของกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงานได้งบประมาณปีนี้ ๖๑,๖๕๘.๓ ล้านบาท ท่านนายกฯ สนใจเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ดีแล้วครับ เพราะว่าต้องสนองนโยบายที่ท่านไปหาเสียงไว้ว่าค่าแรง ๔๐๐ บาท ทำทันที อย่างน้อยก็จะเกิดประโยชน์กับแรงงานไทยจำนวนหนึ่ง และเกิดประโยชน์กับแรงงานต่างด้าว ๒,๖๐๐,๐๐๐ คน ทั้งแรงงานพม่า กัมพูชา ลาว และอื่นๆ แต่สิ่งที่ผมขออนุญาตที่จะกราบเรียนกับท่านประธานครับว่า ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียวกับดราม่าการขึ้นค่าแรง ๒ บาท ซื้อไข่ได้ไม่ถึงครึ่งใบของนายกฯ นี้ มันไม่พอครับ ท่านนายกยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย เพื่อจะได้รับค่าแรงขั้นสูงแบบก้าวกระโดดขึ้นไปด้วย ผมขอเรียนเลยครับ ผมสนับสนุนพระราชบัญญัติรายจ่ายฉบับนี้ ในส่วนงบประมาณของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ๑,๗๒๙.๘ ล้านบาท เพราะงบประมาณฉบับนี้อยู่ในเล่มขาวคาดแดงฉบับ ๓ มีวัตถุประสงค์ คือจะพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีผลิตภาพสูง รองรับความต้องการตลาดแรงงานสมัยใหม่ ซึ่งก็คือ อัปสกิล รีสกิล นิวสกิล อภิมหาสกิล ที่เราพูดๆ กันไว้นี่ เพื่อรองรับแรงงานสมรรถนะสูงสามารถใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปแต่สิ่งที่ผมขอฝากคือ เมื่ออยู่ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายละเอียดฉบับนี้แล้วนายกรัฐมนตรีต้องขับเคลื่อนผ่านกระทรวงแรงงานให้ได้จริงตามเป้าหมาย และผมเห็นด้วยหากนายกรัฐมนตรีจะปรับสูตรการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำใหม่ แต่ที่ขอฝากคือการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำใหม่อย่าดูเฉพาะสภาพการทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพและอื่นๆ เท่านั้น แต่ควรไปดูค่าแอลฯ ด้วย เพราะค่าแอลฯ ที่ว่าเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก เวลาคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ขอให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แล้วประเทศไทยก็จะมีผู้ใช้แรงงานที่ลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีแรงงานที่มีสมรรถนะสูงเพิ่มขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และจะช่วยให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางเร็วขึ้นถัดมาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรจะทำเรื่องการเมืองควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน จะแยกส่วนทำทีละเรื่องเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และขอเรียนว่าผมเห็นด้วยที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่แตะ หมวดหนึ่งกับหมวดสอง และสนับสนุนที่รัฐบาลประกาศนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน ถึงขนาดประกาศว่าจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีนัดแรกที่มีการประชุม แต่ประเด็นคือพอเอาเข้าจริงๆ เป็นหลังคนละม้วน เพราะปรากฏว่าทันทีที่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแทนที่จะประกาศแก้รัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นการตั้งคณะกรรมการศึกษา ถอยเวลาจากนโยบายเร่งด่วนกลายเป็นภายใน ๔ ปี จากหนังสั้นกลายเป็นหนังยาว และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือรัฐบาลประกาศว่าจะทำประชามติเร็วสุด ไม่เกินเดือนมกราคม หรือภายในเดือนมกราคม แต่ขณะที่รัฐบาลประกาศจะทำประชามติ คาดว่าเร็วสุดภายในเดือนมกราคม ขณะเดียวกันซีกรัฐบาลก็ออกข่าวว่าจะแก้พระราชบัญญัติประชามติ เพื่อแก้ประเด็นที่การมาออกเสียงประชามติ จะต้องใช้เสียงผู้มีสิทธิ์ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ จึงจะถือว่าเป็นการทำประชามติได้ให้เหลือมาใช้สิทธิ์เท่าไรก็ได้ เอาแค่ถ้าเสียงมาใช้สิทธิ์บอกว่าเห็นด้วยก็ถือว่าเห็นด้วยชนะ ถ้าบอกว่าไม่เห็นด้วยมากกว่า ไม่เห็นด้วยก็ชนะ เรื่องนี้ยังต้องถกเถียงกันอีกมากผมอยากกราบเรียนว่า พระราชบัญญัติประชามติเวลาแก้ เดือนเดียวไม่น่าจะเสร็จ เพราะฉะนั้นจะทำประชามติในเดือนมกราคมได้อย่างไร เหมือนที่รัฐบาลพูด จริงใจหรือจิงโจ้ นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องถามท่านประธานไปยังรัฐบาลคือประชามติต้องทำทั้งหมด ๓ ครั้ง ครั้งหนึ่งใช้งบประมาณ ๓,๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยประมาณ หรือประมาณหมื่นล้านบาท คำถามคืองบประมาณอยู่ตรงไหน ตั้งไว้เท่าไร ผมหาไม่เจอ ขอความกรุณาสะท้อนความจริงใจตรงนี้ด้วยเรื่องรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย ผมได้คุยกับ ด็อกเตอร์สามารถ ราชสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ได้รับคำตอบว่ารถไฟฟ้าทั้งหมดมีทั้งหมด ๑๒ สาย เปิดบริการแล้ว ๘ สาย ระยะทาง ๒๗๘ กิโลเมตร ประมาณ ๕๐% ของเส้นทางทั้งหมด นโยบาย ๒๐ บาทตลอดสายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ก็คือว่าผู้โดยสารจ่ายครั้งเดียว ๒๐ บาทนั่งได้ตลอดทุกสาย ทุกสี แต่วันนี้ ๒๐ บาทกลายเป็นใช้ได้แค่สองสายคือสายสีแดง และสายสีม่วง สายแดง ๔๑ กิโลเมตร สายม่วงสาม ๒๓ กิโลเมตร แค่ ๒๓% ของเส้นทางทั้งหมด ที่หาเสียงไว้เมื่อวานสีเขียวส่วนต่อขยายเปิดใช้ แต่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มอีก ๑๕ บาท ประเด็นก็คือว่าสายสีม่วงกับสายสีแดง ที่ ๒๐ บาทตลอดสาย ปรากฏว่าปัจจุบันขาดทุนวันละ ๗,๔๐๐,๐๐๐ บาท ปีหนึ่งตก ๒,๗๐๐ ล้านบาท คำถามเงินขาดทุนนี้ใครจะเป็นผู้จ่าย ถ้ารัฐบาลบอกว่ารัฐบาลจะเป็นผู้จ่าย สุดท้ายนโยบายนี้ก็หนีไม่พ้น “อัดยาย ซื้อขนมยาย” ก็คือลดราคาให้ประชาชนแล้วเอาเงินประชาชนมาจ่ายให้ประชาชน ไม่สมราคาคิดใหญ่ทำเป็น คำถามคือแล้ว ๒๐ บาทตลอดสายของจริงจะได้เมื่อไหร่ ขอให้รัฐบาลช่วยตอบคำถามนี้ด้วย และต้องใช้เงินงบประมาณไปชดเชยหรือไม่ จำนวนเท่าไร เจ้าของเงินทั้งประเทศควรจะได้รับรู้