Tuesday, 21 May 2024

“สรรเพชญ” เตือน รัฐบาล หากบิดเบือนข้อมูล ”แลนด์บริดจ์” อาจทำไทย “หายนะ”

14 Jan 2024
68

“สรรเพชญ” สส.สงขลา ปชป. เตือน รัฐบาล หากบิดเบือนข้อมูล “แลนด์บริดจ์” เท่ากับสร้างหายนะให้กับประเทศ จี้ ตอบคำถาม ด็อกเตอร์สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ได้ก่อน คุ้มค่าหรือไม่ วันที่ ๑๔ ม.ค. ๖๗ นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ได้ให้ความเห็นจากกรณี ๔ สส. ได้ลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ อันเนื่องจากการที่ไม่เห็นด้วยกับรายงานการศึกษาที่ยังมีจุดบกพร่อง มีลักษณะตัดแปะ และมีเนื้อหาที่ไม่สมบูรณ์ในหลายจุดนั้น ว่า “ตนทราบแต่เพียงสาเหตุของการลาออกตามหน้าสื่อทั่วไปที่ กมธ. ทั้ง ๔ ท่าน ไม่เห็นด้วยกับรายงาน ส่วนการลาออกของ สส. ทั้ง ๔ ท่านนั้น จะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบข้อเท็จจริง“ นายสรรเพชญ ยังได้ให้ความเห็นต่อรายงานผลการศึกษาของ กมธ.เเลนด์บริดจ์ ที่มีปัญหา ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ มีมูลค่ากว่า ๑ ล้านล้านบาทนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการศึกษาที่ถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการ ทั้งด้านมิติทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ทั้งนี้ หน่วยงานที่ศึกษาจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และสามารถตอบข้อสงสัย แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนผลการศึกษาต่อสังคมได้ “จากข่าวที่ปรากฏ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าของโครงเเลนด์บริดจ์ระหว่างสภาพัฒน์ฯ และ สนข. มีความขัดแย้งหรือเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้น ตนเห็นว่าโครงการภาครัฐทุกโครงการ จะต้องมีกระบวนการศึกษาที่ถูกต้อง เป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่มีการบิดเบือนผลการศึกษาเพื่อประโยชน์ของตน ประเด็นนี้สำคัญมากนะครับ หากเรามีอคติ หรือพยายามบิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริงงานวิจัยแล้ว ผลกระทบระยะยาว ความเสียหาย คงต้องตามมาแน่ๆ โดยเฉพาะผลการศึกษาของโครงการขนาดใหญ่ที่อาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงtt ttอย่างข้อชวนสงสัยของ ด็อกเตอร์สามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่ชวนให้คิดว่า แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยร่นระยะทางลงจริงหรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องออกมาให้ข้อมูล ออกมาอธิบายกับสังคมให้กระจ่าง เพราะหากแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ไม่สามารถประหยัดเวลาการเดินเรือ เมื่อเทียบกับการเดินผ่านช่องแคบมะละกา โครงการนี้ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เรือขนาดแสนตันขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลง ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ดังนั้น ความสำคัญทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ประเด็นธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐเป็นสำคัญ และหากเราเปรียบเสมือนคลังสมองของชาติ อย่างสภาพัฒน์ฯ อย่าง สนข. ขอให้ท่านตรงไปตรงมา กับข้อมูลที่ท่านได้ศึกษามา” นายสรรเพชญ กล่าว นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังกล่าวอีกว่า ระบบเศรษฐกิจไทยได้หยุดการขยายตัวแบบก้าวกระโดดมาเป็นเวลานาน เนื่องจากการขาดการลงทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น ตนจึงเห็นว่ารัฐบาลควรลงทุนด้าน “เมกะโปรเจกต์” ให้มากขึ้น เพราะจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ผู้คนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษประจำทั้ง ๔ ภูมิภาคของไทย ฯลฯ ตลอดจน “เมกะโปรเจกต์” จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวมอีกด้วยสำหรับพื้นที่ภาคใต้ นายสรรเพชญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในอดีต โครงการ “เมกะโปรเจกต์” จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นหลัก เช่น ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ทางรถไฟสายใหม่เชื่อมโครงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ ๒ โครงข่ายถนน สะพานมาต่อเชื่อมระหว่างไทย-มาเลเซีย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายหาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย (ด่านสะเดา) และรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเมกะโปรเจกต์ด้านพื้นที่เศรษฐกิจ คือ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการรับเบอร์วัลเลย์ (Rubber Valley) ที่นครศรีธรรมราช เป็นต้น