Monday, 20 May 2024

ผบ.ทอ. เร่งพัฒนา สนามบิน ฝูง ๔๑๖ รับปฏิบัติการช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ

16 Feb 2024
55

“บิ๊กไก่” นำคณะตรวจสนามบิน ฝูงบิน ๔๑๖ จ.เชียงราย เพื่อพัฒนาพื้นที่ ๗๐๐ ไร่ ในยุคสงครามเย็น ปรับปรุงให้เป็นสนามบินที่รองรับการปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) รวมถึงการดูแลชาวเชียงราย และภาคเหนือ รวมถึงเป็นฐานบิน รองรับ-ฮ.กู้ภัย ทั้ง ฮ.EC๗๒๕ พยาบาลกู้ชีพ-UAV ด้วยความร่วมมือจาก นพค.๓๕ เร่งตัดถนนปรับพื้นที่ รวมถึงจัดพื้นที่สาธารณะใหม่ สร้างเส้นทางวิ่งออกกำลังกายนอกรันเวย์ และการสัญจร เพื่อให้อยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์๖๗ ที่ จ.เชียงราย พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.อ.อ.วรกฤต มุขศรี ผบ.คปอ., พล.อ.อ.พิบูลย์ วรรณปรีชา ผทค.พิเศษ ทอ., พล.อ.ท.คิดควร สดับ รองผบ.คปอ., พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี จก.กร.ทอ., พล.อ.ท.วชิระพล เมืองน้อย จก.ยก.ทอ.ฯ ได้ตรวจความพร้อมฝูงบิน ๔๑๖ ที่สนามบินเก่าเชียงราย โดยมี พล.อ.ท.ชัยนาท ผลกิจ รอง เสธ.ทอ. ในฐานะประธานการปรับปรุงสนามบิน ฝูง ๔๑๖ และ น.อ.ปรธร จีนะวัฒน์ ผบ.บน.๔๑ และ น.ท.ปราโมทย์ กุยแก้ว ผู้ฝูง ๔๑๖ ให้การต้อนรับ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี เผยว่า สนามบินแห่งนี้ทางกองทัพอากาศ อยู่ในช่วงกำลังปรับปรุงเพื่อนำกลับมาใช้งานรองรับการปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ การช่วยเหลือประชาชนของกองทัพอากาศ  ขณะที่ในวันนี้ทาง กองทัพอากาศ ได้จัดแสดงการใช้อากาศยานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ โดยมีรันเวย์ยาวราว ๓ กม. พื้นที่ ๗๐๐ กม. ตั้งแต่สมัยสงครามโลก สงครามมหาเอเชีย บูรพา ที่มีทั้งส่วนที่ทหารญี่ปุ่นสร้าง และชาวเชียงรายสร้าง ทั้งนี้ ทอ. วางแผนพัฒนาสนามบิน ฝูงบิน ๔๑๖ เป็นแผนระยะ ๓ ปีตั้งแต่ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ โดยในปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา มีการสร้างถนนเพื่อเพิ่มยุทธการและการบิน ติดตั้งระบบไฟสัญญาณ ไม้กั้นรั้วชั่วคราว และในปี ๒๕๖๗ สร้างเส้นทางวิ่งออกกำลังกายทางทิศเหนือจรดทิศใต้ ซึ่งอยู่นอกรันเวย์ในปัจจุบัน สร้างถนนอ้อมรันเวย์ทางทิศเหนือพร้อมไหล่ทาง และในปี ๒๕๖๘ จะปรับปรุงรันเวย์ ทางขับและลานจอดอากาศยานทั้งหมดและสร้างรั้วแนวกั้นพื้นที่ยุทธการและการบินต่อไป กองทัพอากาศจึงมีแผนพัฒนาสนามบิน เพื่อให้สามารถจัดอากาศยานเข้าไปสนับสนุนพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการส่งผู้ประสบเหตุจากการดับไฟป่าและอื่นๆ ไปส่งที่โรงพยาบาลตามข้อตกลง (MOU) ที่กองทัพได้ทำกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยจะพัฒนาให้สนามบินมีมาตรฐานการบิน ไอเคโอ (ICAO) คือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ “International Civil Aviation Organization” “การพัฒนาฯ จะค่อยเป็นค่อยไปและพยายามไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เคยเข้าไปใช้ประโยชน์ในฝูงบิน ๔๑๖ โดยจะมีการสร้างถนนทางทิศเหนือและทางออกกำลังกายแห่งใหม่ สำหรับผู้ที่เคยไปออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ โดยใช้พื้นที่ ๗๗ ไร่ ส่วนทางรถที่เคยวิ่งผ่านตัวสนามบินไปมา ก็จะไม่ปิด โดยจะสร้างแนวรั้วส่วนขยาย และสร้างไม้กระดกกั้น ในช่วงที่มีอากาศยานขึ้นลง” ทั้งนี้ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี เผยด้วยว่า การปรับปรุงสนามบิน ฝูง ๔๑๖ ทั้งหน่วยผู้ปฏิบัติ และประชาชนจะอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนยังใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ให้กระทบประชาชนที่ใช้เส้นทางเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินสายใน กับวัดดอยพระบาทยังสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม และมาออกกำลังกายได้ นอกจากนี้ ทอ.ได้ส่งและกำลังจะทำพื้นที่การเกษตร เพื่อส่งเสริมอาชีพ   นอกจากนี้ กองทัพอากาศได้จัดทำแผนงานสำหรับพัฒนาพื้นที่สนามบินเชียงราย (ฝูงบิน ๔๑๖) เพื่อให้เป็น ศูนย์กลางภารกิจการช่วยเหลือประชาชนด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ ในการวางกำลังอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ปฏิบัติการบินลาดตระเวนทางอากาศ และวางกำลังเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยชีวิต รวมทั้งภารกิจการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นฐานบินสนับสนุนการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ โดยกองทัพอากาศพร้อมระดมทรัพยากรและขีดความสามารถ ทั้งด้านอากาศยาน เทคโนโลยี ยุทโธปกรณ์ และกำลังพล เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน ในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีแนวโน้มที่มีความถี่และมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต