Tuesday, 21 May 2024

บอร์ดอีวี เคาะมาตรการหนุนใช้รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า รัฐตั้งเป้าศูนย์กลาง EV อาเซียน

21 Feb 2024
52

บอร์ดอีวี เคาะมาตรการหนุนการใช้รถบัสไฟฟ้า-รถบรรทุกไฟฟ้า ใช้ลดภาษีได้ “เศรษฐา” ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ดันให้เป็นศูนย์กลางอีวีอาเซียน หวังคนไทยหันมาใช้รถไฟฟ้า ช่วยลดมลภาวะวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมสรุป ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ ๒ เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ๑.๕ เท่า  สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี ๒๕๖๘ และที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งการออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV๓ และ EV๓.๕ เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก อีกทั้ง คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภทพร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน ดังนี้ (๑) ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (๒) ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้ (๓) ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ Wh/Kg (๔) ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี ๒๕๗๐ ส่วนเรื่องการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัย และเกิดประโยชน์สุงสุดต่อเศรษฐกิจ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ไปศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วแบบครบวงจร เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป   ขณะเดียวกัน ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ ๒ หรือ EV ๓.๕ เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า ๓ kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า ๗๕ กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV๓.๕ ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น โฆษกรัฐบาล เผยต่อไปว่า ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า ๗๖,๐๐๐ คันในปี ๒๕๖๖ เพิ่มขึ้น ๖.๕ เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร โดยข้อมูล ณ สิ้นปี ๒๕๖๖ บีโอไอได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน ๑๐๓ โครงการ เงินลงทุนรวม ๗๗,๑๙๒ ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์อีวี ๑๘ โครงการ ๔๐,๐๐๔ ล้านบาท รถจักรยานยนต์อีวี ๙ โครงการ ๘๔๘ ล้านบาท รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี ๓ โครงการ ๒,๒๐๐ ล้านบาท แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS ๓๙ โครงการ ๒๓,๙๐๔ ล้านบาท ชิ้นส่วนสำคัญ ๒๐ โครงการ ๖,๐๓๑ ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า ๑๔ โครงการ ๔,๒๐๕ ล้านบาท“นายกรัฐมนตรีย้ำว่าให้ความสำคัญและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นศูนย์กลางอีวีอาเซียน ที่ต้องขับเคลื่อนรถยนต์ EV ของทุกประเภท ให้คนไทยหันมาใช้รถไฟฟ้า เพื่อช่วยลด PM ๒.๕ และช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่งมากขึ้น”