Sunday, 19 May 2024

เรียก “ธรรมนัส-ทส.” เคลียร์ปมที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่-“เศรษฐา” สั่งไม่ให้แบ่งที่กรมอุทยานฯ อีก

21 Feb 2024
38

นายกฯ เปิดทำเนียบฯ เรียก “ธรรมนัส-ทส.” เคลียร์ปมร้อนพื้นที่พิพาทเขาใหญ่ “ธรรมนัส” เผยมอบเลขาฯ ส.ป.ก.ยกเลิกพื้นที่ที่มีปัญหาหมดทุกแปลง พร้อมตั้งกรรมการ ๒ กระทรวงทำงานร่วมกัน ยันไม่ใช่ความขัดแย้ง ด้าน “เศรษฐา” สั่งกรมแผนที่ทหารเดินหน้าวันแม็ป ใช้เวลา ๓ สัปดาห์พิสูจน์ เผย กษ.เตรียมประกาศไม่ให้แบ่งที่ดินในแนวเขตกันชนกรมอุทยานฯ-ส.ป.ก. เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาววันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๖๗ เมื่อเวลา ๑๓.๑๐ น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เรียก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร หารือปัญหาที่ดินทับซ้อนและเกิดข้อพิพาทระหว่างกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับ ส.ป.ก. บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยนายจตุพร เปิดเผยว่า นายกฯ ได้เรียกประชุมเพื่อมาหารือกรณีข้อพิพาทต่อการออกเอกสารสิทธิ์ จุดหมุดนิรนาม ที่ดิน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ในที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ ระหว่าง ๓ หน่วยงาน ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ ส.ป.ก. ส่วนจะเคลียร์ให้จบวันนี้เลยหรือไม่ต้องรอผลการหารือก่อน ต่อมาเวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ตึกนารีสโมสร ร.อ.ธรรมนัส พร้อมนายวิณะโรจน์ นายจตุพร นายอรรถพล และ พล.ท.ชาคร ร่วมกันแถลงภายหลังหารือนายกฯ โดย ร.อ.ธรรมนัส แถลงว่า นายกฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.หมูสี ซึ่งตนในฐานะ รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแล ส.ป.ก. และปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลกรมอุทยานฯ เจ้ากรมแผนที่ทหาร รวมถึงเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้หารือกันตามที่นายกฯ มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน โดยนายกฯ ได้สั่งการให้ตนนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแถลงให้สาธารณชนรับทราบ จากข้อมูลที่ได้คุยกันในเบื้องต้น เรื่องแรกตนยังยืนยันว่าพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาท ตอนนี้เราจะไม่เถียงกันแล้วว่าเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ซึ่งนายกฯ กำชับให้กรมแผนที่ทหารเดินหน้าในการทำเขตแนวพื้นที่ของรัฐ หรือวันแม็ป เดินหน้าต่อไป ทางเจ้ากรมแผนที่ทหารได้รับปากนายกฯ ว่าจะใช้เวลาประมาณ ๓ สัปดาห์ในการพิสูจน์พื้นที่ตรงนี้ ในส่วนของ ทส. และ กษ. ต่อไปนี้จะมีข้อตกลงระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานฯ หากพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตามหลักฐานเดิมตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ มาถึง ๒๕๓๐ จนถึง ๒๕๓๔ เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกัน เรียกว่าแนวกันชนตนในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจะออกนโยบายว่าต่อไปนี้พื้นที่ที่เป็นแนวกันชนหรือพื้นที่ติดประชิดกันจะไม่จัดให้พี่น้องเกษตรกรทำกินอย่างเด็ดขาด นี่คือข้อตกลงที่ได้คุยกันไว้ทั้งสองหน่วยงาน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พื้นที่ที่มีปัญหา ตนได้มอบนโยบายให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ไปยกเลิกให้หมดทุกแปลงที่ทำการแล้วรังวัดออกเอกสารสิทธิ์ ประเภท ส.ป.ก.๔-๐๑ ให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะคือตัวจริงหรือไม่ใช่ตัวจริง เราได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการดำเนินการเอาผิดทั้งวินัยและวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญา เบื้องต้นจะให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ออกคำสั่งยกเลิกทั้งหมดในเอกสารที่ออกมา นี่คือข้อตกลง และแนวทางการทำงานในอนาคตจะมีการบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยูระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานฯ ในการที่จะกระทำการใดๆ ก็ตามในพื้นที่ที่เราจะจัดสรรให้กับพี่น้องเกษตรกรจะต้องมีคณะกรรมการเป็นรูปธรรม ต่อไปจะมอบให้ ส.ป.ก.จังหวัด ที่ประกอบด้วยทุกหน่วยงาน ทั้ง ส.ป.ก. กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ และหน่วยงานของรัฐที่ดูแลพื้นที่ดินของรัฐทั้งหมด จะได้มีความโปร่งใส นี่คือสิ่งที่คุยกันไว้  ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า สิ่งที่เกิดปัญหา ตนไม่อยากจะโทษรัฐบาลที่แล้ว แต่การเริ่มรังวัดเริ่มตั้งแต่วันที่ ๕ ก.ค. ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่ตนจะแก้ปัญหาคือตนจะต้องทำความสะอาดบ้านของตนให้เรียบร้อย ในขณะที่เรากำลังจะทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรก็เกิดปัญหาอย่างนี้ มันเป็นปัญหาที่ กษ.ต้องแก้ไข ขณะเดียวกันการทำงานเราเป็นรัฐบาลเดียวกัน และรัฐมนตรีทั้ง ๒ กระทรวงมาจากพรรคเดียวกัน ตนไม่อยากให้เข้าใจว่าเป็นประเด็นการเมือง มันไม่ใช่ แต่เป็นความผิดพลาดในการทำงานที่ไม่คุยกัน เพราะถ้าคุยกันจะไม่เป็นปัญหา ฉะนั้นต่อไปนี้จะให้ปลัดทั้ง ๒ กระทรวงต้องคุยกัน อธิบดีกรมอุทยานฯ และเลขาธิการ ส.ป.ก.ต้องคุยกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ปัญหาที่มีขึ้นมาต้องแก้ร่วมกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็มีกรรมการกลางก็คือกรมแผนที่ทหาร ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ เมื่อถามว่า พื้นที่ที่มีปัญหามีมากน้อยแค่ไหน และจะทำความเข้าใจประชาชนอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พื้นที่ที่ตอนนี้เราต้องเร่งแก้ปัญหาคือ พื้นที่ที่เกิดเป็นประเด็น ที่ได้เอาเอกสารสิทธิ์ให้เกษตรกรเข้าทำกินทั้ง ๕ แปลง ตนสั่งการแล้วว่าให้ตรวจสอบความถูกต้อง สำคัญที่สุดต้องมีจิตใต้สำนึกว่ามันเป็นสภาพป่า แล้วไปจัดสรรได้อย่างไร ตนไม่เห็นด้วย และเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ชี้แจงตนที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเหตุมีผล และตนลงพื้นที่ก็เห็นสภาพเป็นป่าที่ฟื้นขึ้นมาแล้ว เพราะเกษตรกรไม่ได้เข้าทำกินมานาน จิตสำนึกมนุษย์ไม่ควรจะจัดให้เกษตรกร อันนี้ตนจะตั้งกรรมการสอบสวนแน่นอน และเมื่อมีมูลว่าผิดก็ต้องดำเนินคดีอาญา เมื่อถามว่า ถ้ายกเลิกไปแล้ว เกษตรกรที่ทำกินจะต้องทำอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า มันเป็นพื้นที่ที่ทำภาคการเกษตรอยู่แล้ว มันต้องเป็นรายๆ ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมอุทยานฯ และ ส.ป.ก.ต้องพูดคุยกัน และตนมีนโยบายอยู่แล้วว่าไม่ควรจัดพื้นที่แนวกันชน อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไว้ สำหรับพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทตนปรึกษา รัฐมนตรีว่าการทส.แล้วว่าหากเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. เราจะทำเป็นพื้นที่ประเภทป่าชุมชนเพื่อรักษาป่า ด้าน นายจตุพร กล่าวว่า ในส่วนของ ทส. เน้นย้ำการดำเนินการตามหลักกฎหมายก่อน หลังจากนี้การดำเนินการจึงต้องมีคณะกรรมการเข้าไปเดินสำรวจในพื้นที่ โดยกรมอุทยานฯ จะทำการสำรวจทั้งหมดในแนวเขตที่ออก ส.ป.ก. ซึ่งจะดูทั้งหมดว่าส่วนไหนที่มีปัญหา ทั้งนี้ ทส.ยืนยันทุกอย่างตามหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริง และหลักวิทยาศาสตร์ นายวิณะโรจน์ กล่าวถึงการย้ายเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. นครราชสีมา ๖ คน ออกนอกพื้นที่ว่า กรณีเกิดปัญหาความโปร่งใสการทำงาน จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา จึงต้องย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส และให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความยุติธรรม  ต่อมาเวลา ๑๔.๓๔ น. นายเศรษฐา ทวีตภาพประชุมและข้อความผ่าน X ว่า จากกรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาใหญ่ ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนเพราะกระทบต่อพี่น้องประชาชนหลายภาคส่วน ตนจึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ ปลัด ทส. อธิบดีกรมอุทยานฯ เลขาธิการ ส.ป.ก. และเจ้ากรมแผนที่ทหาร มาพูดคุยเพื่อมาหาทางออกร่วมกัน โดยในเบื้องต้นหน่วยงานทหารจะเข้าไปสำรวจแผนที่ที่เป็นมาตรฐานของรัฐแผนที่เดียว เพื่อให้ยุติข้อพิพาทก่อน ซึ่งจะใช้เวลาสำรวจประมาณ ๓ สัปดาห์ ส่วนกรมอุทยานฯ และเลขาธิการ ส.ป.ก. จะทำบันทึกข้อตกลง ให้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดินของรัฐทุกประเภทในการเข้าทำการสำรวจพื้นที่พิพาทร่วมกัน ด้าน กษ.จะประกาศยกเลิกไม่ให้มีการแบ่งที่ดินในแนวเขตกันชน (พื้นที่คาบเกี่ยว) ระหว่างกรมอุทยานฯ และ ส.ป.ก. เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวครับ