Monday, 20 May 2024

“ราเมศ” เห็นแย้ง “วิโรจน์" ตั้ง กมธ.สอบศาล รธน. ระวังก้าวล่วงอำนาจศาล

10 Mar 2024
45

“ราเมศ” โฆษก ปชป. เห็นแย้ง “วิโรจน์ ก้าวไกล” ปมตั้ง กมธ.สอบศาล รธน. แนะ ไม่ทำผิด อย่ากลัว ดักคอ ไม่ใช่พอชนะ ก็พึงใจ พอแพ้ ก็ทำลายความน่าเชื่อถือศาล-ระวังก้าวล่วงอำนาจศาล รธน.เมื่อวันที่ ๑๐ มี.ค. ๒๕๖๗ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุจะเสนอญัตติด่วน ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ว่า หลักการสำคัญในระบบประชาธิปไตยได้มีการแบ่งแยกอำนาจถ่วงดุลกันชัดเจน คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่ละฝ่ายต่างมีหน้าที่ ทำหน้าที่ตามครรลองในระบบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในทางตุลาการ จึงเป็นหนึ่งในสามอำนาจหลัก นายวิโรจน์ อย่าเข้าใจหลักการผิดไป เพราะจะทำให้การตั้งต้นในการวิพากษ์วิจารณ์ผิดไปจากหลักความถูกต้อง ทั้งนี้ อำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัด และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดี กรอบอำนาจหน้าที่ของศาล มีการกำหนดไว้ค่อนข้างชัดว่ามีคดีประเภทไหนบ้าง ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถจะรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ และที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถหยิบยกข้อเท็จจริงใดขึ้นมาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้เองโดยลำพัง หากไม่มีผู้ยื่นคำร้องเพื่อให้มีการตีความวินิจฉัย ซึ่งทุกคดีที่ผ่านมา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีหลายคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณา คดีไหนที่อยู่ในอำนาจก็รับไว้และมีการพิจารณาวินิจฉัย แน่นอนที่สุดว่าเมื่อมีการพิจารณาวินิจฉัยแล้ว ย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้คดี แต่ทั้งหมดคือกระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ และมีผลผูกพันทุกองค์กร หลายคดีที่พรรคก้าวไกลชนะ และที่แพ้คดีก็มี ซึ่งการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ พอพรรคก้าวไกลชนะก็พึงพอใจ แต่เมื่อมีคดีที่พ่ายแพ้ ก็จะมีกระบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญนายราเมศ กล่าวต่อว่า ทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าได้ศึกษาคำวินิจฉัยอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาที่นำไปสู่คำวินิจฉัย เกิดขึ้นมาจากการกระทำของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติเองทั้งสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง โดยสั่งให้ฝ่ายบริหาร หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติ กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติได้ ที่สำคัญเมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์กติกาไว้ หากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่นำพาต่อกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นความชอบธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญ และเป็นองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่ให้หลักประกันความเชื่อมั่นแก่องค์กรทุกฝ่าย รวมถึงประชาชน ว่าเมื่อใดก็ตามที่ตัวบทกฎหมาย และการทำหน้าที่ รวมถึงการใช้อำนาจขององค์กรใดๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ย่อมถูกหยิบยกขึ้นมาโต้แย้ง และหาข้อยุติในกระบวนการทางตุลาการได้เพื่อความเป็นธรรม โดยการยื่นคำร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย“ดังนั้น เรื่องนี้ผมจึงมีความเห็นต่างจากพรรคก้าวไกล และคิดได้อย่างเท่าทันว่าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล ก็เริ่มต้นทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญก่อน และหากผลคดีไม่เป็นคุณต่อพรรคก้าวไกล ก็จะใช้การกระบวนการทั้งหมดเป็นเงื่อนไขว่าพรรคก้าวไกลเป็นผู้ถูกกระทำใช่หรือไม่ นี่คือความเลวร้ายในหลักคิดทางการเมืองที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายในอนาคต ดังนั้น การเสนอญัตติด่วนเพื่อขอให้ตั้งคณะ กมธ.ศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ ตนเชื่อว่ามีการตั้งธงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา ซึ่งที่กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ ขอให้ระวังว่าที่สุดจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่จะไปก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง” นายราเมศ กล่าว…