Tuesday, 21 May 2024

ส่องปมที่ดินทับซ้อนป่า จับตาเกมการเมืองแฝง

15 Mar 2024
33

ประเด็นปัญหาร้อน “ที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อนเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา” เริ่มคลี่คลายลงหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ลงนาม MOU กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อร่วมกันตรวจสอบแนวเขตพิพาทให้เสร็จภายใน ๒ เดือนข้างหน้านี้ถ้าพื้นที่ใดทับซ้อนตกลงกันไม่ได้ก็เสนอ “คกก.ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน ๑ : ๔๐๐๐ (One Map)” ผ่านความเห็น คกก. จัดที่ดินแห่งชาติ หรือคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ สนง.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะส่งผู้มีอำนาจตัดสินใจร่วมเป็นคณะอนุกรรมการเสนอ สนง.คกก.นโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) พิจารณาหาข้อยุติต่อไปเรื่องนี้ ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้ตรวจราชการ ทส. สะท้อนปัญหาผ่านเวทีจากทับลานถึงเขาใหญ่ผืนป่าที่ถูกเฉือน ว่าเรื่องนี้อาจต้องดูเจตนารมณ์กฎหมาย ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ “คนมีมือ ๒ ข้าง” แล้วมือด้านซ้ายกลับกำลังถือกฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้ การอนุรักษ์ หรือระเบียบอุทยานฯ ในการดูแลรักษาผืนป่าสีเขียวไว้ แต่ในปี ๒๕๑๘ ได้มีเจตนารมณ์ต้องการนำที่ดินป่าเสื่อมโทรมมาให้ประชาชนที่ยากจนได้ใช้ประโยชน์ทำกินด้านเกษตรกรรม ต่อมามีการออกขีดเส้นป่าเศรษฐกิจโซน E (Economic) ควบคู่ป่าเกษตรกรรมโซน A (Agriculture) ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา “แต่ไม่อาจยุ่งกับป่าอนุรักษ์โซน C (Conservative) ได้” ด้วยหากจะใช้ป่าโซน C ต้องออกกฤษฎีกาเพิกถอน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ ส.ป.ก.ออกกฤษฎีกาแล้วจะประกาศบังคับใช้ได้กับป่าทั้งหมดเช่นนี้ถ้าเจอป่าอุดมสมบูรณ์ก็ไม่อาจเดินรังวัดให้ได้ แล้วในปี ๒๕๒๘-๒๕๒๙ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าไปฟื้นฟูปลูกป่าแปลงที่พิพาทบ้านเหวปลากั้งเป็นแถวเรียงกำมะหยี่กันไฟ “ป่ามีสภาพฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ” ทำให้ปี ๒๕๓๐ มีการจำแนกที่ดินก็ไม่อาจจัดสรรให้เกษตรกรได้ และผ่านมา ๓๐ ปี กลายเป็นป่าไม่เข้าเกณฑ์การจัดสรรมาแต่ต้นขณะที่สมัยนั้น ส.ป.ก.เข้ารังวัดก็ไม่ได้ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนว่าเป็นแปลงปลูกป่าหรือไม่ เช่นเดียวกับกรมพัฒนาที่ดินทำแผนที่ส่งมอบให้ ส.ป.ก.กลับไม่ตรวจสอบอีก เพราะด้วยแปลงปลูกป่าเป็นเรื่องเฉพาะของหน่วยงาน “มีภาระผูกพันจากการใช้งบประมาณดำเนินการ” ดังนั้นการเพิกถอนแปลงปลูกป่านี้จึงทำได้ยากแล้วในปี ๒๕๓๗ “มือซ้าย” มีการส่งมอบพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมให้ “มือขวา” ดำเนินการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม ๓๐ กว่าล้านไร่ ลักษณะส่งมอบแบบเร็วๆ ทำให้สวนป่าบางส่วน หรือป่าที่มีภาระผูกพันติดไปด้วย กลายเป็นปัญหาพิพาทต่อกันมาตลอดจนต้องทำบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกัน ๒ ครั้งในปี ๒๕๓๘ และปี ๒๕๔๑อันมีเจตนารมณ์มุ่งรักษาป่า สวนป่า หรือป่ามีภาระผูกพันต้องส่งคืนให้อุทยานฯ แต่ด้วย “คนร่าง MOU” กลับเขียนเฉพาะป่าสงวนลืมลงรายละเอียดป่าถาวรตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ ลงในข้อตกลงดังกล่าวนั้นจริงๆแล้ว “การเดินรังวัด ส.ป.ก.๔-๐๑” มีขั้นตอนเยอะมากแต่กลับไม่สมบูรณ์มาแต่ต้น “จนสูญเสียป่า ๓๐ ล้านไร่” เพราะด้วยขั้นตอนตรวจสอบสิทธิ์เป็นหน้าที่ “นิติกร” ลงพื้นที่สอบถามผู้ถือครองการใช้ประโยชน์ในที่ดินเสนอ สนง.ส.ป.ก.ลักษณะทำงานคล้าย “กรมที่ดิน” เพียงแต่พื้นที่ใดติดป่ามักใช้คำว่า “ติดต่อ หรือคาบเกี่ยว”แล้วตั้งกรรมการร่วมทำงาน “ลดข้อพิพาทที่ดินทับซ้อน” แต่สำหรับ ส.ป.ก.กลับไม่มีขั้นตอนนี้ทำให้เกิดปัญหาโอละพ่อมาตลอด ฉะนั้นถ้ามีระเบียบปฏิบัติพื้นที่ใดติดป่า “ตั้งกรรมการร่วมขึ้นมา” ปัญหาความสับสนแนวเขตทับซ้อนระหว่างป่ากับ ส.ป.ก.ก็จะน้อยลง “อันเป็นหลักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง” ไม่ต้องพึ่งพา One map ด้วยซ้ำ เนื่องจาก One map ต้องเพิกถอน ๑,๒๒๑ ป่า และอุทยานฯ ๑๐๐ กว่าป่า ทำให้เป็นเรื่องทำเสร็จได้ยาก เพราะอาจจะไม่มีใครกล้าเซ็นรองรับด้วย เนื้อหาขั้นตอน One map ละเอียดอ่อนสุ่มเสี่ยงอันตรายมากขณะที่ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย บอกว่า ก่อนอื่นขออธิบายหนังสือของกรมแผนที่ทหารทำถึง “นายกฯ” เป็นเพียงรายงานผลการตรวจแนวเขตที่ดินทับซ้อนตามคำสั่งของนายกฯเท่านั้นยังมิใช่มติ คณะรัฐมนตรีแต่อย่างไร ทั้งมิใช่จุดเริ่มต้นแผน One map เพราะการทำเรื่องนี้ต้องใช้เวลายาวนานยิ่งกว่านั้น หากทำสำเร็จแล้ว “ก็ไม่รู้จะบังคับใช้ได้หรือไม่” เพราะถ้าดูตามกฎหมาย “คทช.” มีอำนาจเพียงการเสนอแนะเท่านั้น “การจะเพิกถอนแนวเส้นเขตพื้นที่ป่าใด” ต้องเริ่มจากการใช้กลไกตามแม่บทของหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็น คกก.อุทยานแห่งชาติ หรือ คกก.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติเหตุนี้หนังสือของกรมแผนที่ทหารดังกล่าว “จึงยังไม่มีผลบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปบริหารจัดการต่อได้” เมื่อเป็นเช่นนั้นแนวเขตป่าอุทยานแห่งชาติฯ พ.ศ.๒๕๐๕ ก็ยังต้องยึดแนวเขตสภาพเดิมประการถัดมา “บทบาทการขับเคลื่อน One map” แน่นนอนว่านายกฯ ในฐานะประธาน คทช. ถ้าหากต้องการทำตามหนังสือของกรมแผนที่ทหารสามารถทำได้ “แต่ต้องนำเข้า คทช.พิจารณาตามระเบียบ” เพื่อให้เป็นเวทีในการแสวงหาข้อสรุปแนวเขตที่ดินทับซ้อนระหว่าง ส.ป.ก.และอุทยานแห่งชาติฯนั้นแล้ววันนี้ “กษ.” แสดงจุดยืนชัดจะไม่ขอยุ่งพื้นที่ทับซ้อน และพร้อมส่งมอบที่ดินคืนให้ “ทส.” ถ้าเสนอเข้า คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกเป็นมติ เพราะด้วย ส.ป.ก.ก็ไม่ได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินทับซ้อนละเอียด ๑๐๐% ขณะที่ในปี ๒๕๓๗ “ทส.” ส่งมอบที่ดินแบบเร่งรีบจนเกิดข้อบกพร่อง ดังนั้นคงเป็นโอกาสดีที่จะหาทางอุดช่องว่างกันต่อไปเช่นนี้แนวทางสำหรับ “การแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่าง ๒ หน่วยงาน” คงต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง (political will) “ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ” ประธาน คทช.ออกมาปลดล็อกเรื่องนี้แม้จะมอบให้ท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นผู้กำกับดูแล สคทช.แต่ว่า “นายกฯ” สามารถเข้ามาทำหน้าที่ด้วยตัวเองได้เพื่อใช้เวที “คทช.แก้ปัญหาข้อพิพาททั้งหลายนั้น” แต่อาจต้องหยิบยกประเด็นฝ่ายกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ที่มีข้อกังวลกับการบังคับใช้กฎหมายไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกรณีที่มีคําพิพากษารองรับไว้ในหลายคดี “คงต้องหาวิธีปฏิบัติ” ทั้งคดีที่กำลังจะเกิดขึ้น คดีอยู่ระหว่างพิจารณา หรือคดีตัดสินไปนั้นเพราะหากมีการประกาศผนวก “ที่ดินพิพาทเข้ากับ ส.ป.ก.” ผลกระทบจะตกกับเจ้าหน้าที่บังคับคดีที่อาจถูกยกเป็นเหตุต่อสู้ในชั้นศาล ฉะนั้น “นายกฯ” ต้องลงมาคลี่คลายปัญหาแต่หากจะใช้กลไก คทช.ต้องยอมรับว่าไม่มีอำนาจแทรกแซงกฎหมายจำเฉพาะ “คกก.อุทยานแห่งชาติ” อันเป็นกลไกสูงสุดในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติฯทั้งไม่อาจแทรกแซง “คกก.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า” ที่เป็นกลไกตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ ดังนั้น วันนี้ รัฐมนตรีว่าการกษ.และ รัฐมนตรีว่าการทส. มีหลักการตรงกันแล้วเพียงแต่การปฏิบัติคงต้องจำเป็นมาหารือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป ในส่วน One map มีรายละเอียดอีกเยอะไม่อยากให้คาดหวังอะไรมากอย่างไรก็ดี เห็นด้วยกับ “กษ.ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ถือ ส.ป.ก.” เพื่อคัดกรองคนไม่มีสิทธิ์ออกไปแล้วใครออกเอกสารสิทธิมิชอบ “ต้องถูกลงโทษ” สุดท้ายย้ำว่า หนังสือกรมแผนที่ทหารชี้ ส.ป.ก.ปักหมุดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน “ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ” อาจจะก่อให้เกิดความยุ่งยากกว่าเดิม ดังนั้นเจ้าหน้าที่ ๒ กระทรวงจับเข่าคุยกันดีที่สุด จริงๆแล้ว “ข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อนเขตอุทยานฯเขาใหญ่” หากวิเคราะห์จะเห็นประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวอย่างมีนัยสำคัญ เพราะดูจากข้อสั่งการ “นายกฯ” ออกเป็นหนังสือเวียนลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์๒๕๖๗ ในการแก้ปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐทำบันทึกข้อตกลง เพื่อสำรวจหาข้อยุติร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนนี้หากตีความเจตนาทางการเมือง “เรื่องนี้จงใจให้จบยาก” เพราะหนังสือสั่งการมิได้พูดถึงหน่วยงานเจ้าภาพ หรือบทบาท One map ด้วยซ้ำ เช่นนี้ไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินทับซ้อนได้อย่างแท้จริง เพื่อต้องการก่อให้เกิดคำถามสังคมที่หาคำตอบข้อสรุปไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่อันจะเป็นเครื่องมือ “ต่อรองทางการเมือง” ในการบริหารจัดการอำนาจกับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลักนี่คือข้อพิพาทที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าอนุรักษ์คาราคาซังมายาวนาน “ในประเทศไทย” ที่กำลังตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนการจัดการปัญหาไม่สามารถจะหาข้อยุติลงได้อีก.คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า ๑” เพิ่มเติม