วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

ตะลุยป่าไม้ไซบีเรีย (๕)

หลายคนคิดว่ารัสเซียเพิ่งเจอน้ำมันในไซบีเรีย ขอเล่าเรื่องในอดีตครับว่า ค.ศ.๑๘๙๗ หรือเมื่อ ๑๒๗ ปีมาแล้ว รัสเซียและสหรัฐฯ สองประเทศเป็นผู้ผลิตน้ำมันร้อยละ ๙๕ ของน้ำมันที่มนุษย์ใช้กันทั้งโลก ระหว่าง ค.ศ.๑๘๙๘-๑๙๐๒ รัสเซียผลิตน้ำมันได้มากกว่าสหรัฐฯ กระทั่ง ค.ศ.๑๙๓๘ บริษัทอะรามโกค้นพบแหล่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่นั้น ตะวันออกกลางก็กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำมันมากที่สุดของโลกแทนที่รัสเซียค.ศ.๑๙๑๗ เกิดการปฏิวัติทางการเมืองโดยพรรคบอลเชวิค พวกตะวันตกพากันคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เลนิน ผู้นำโซเวียตเริ่มขอความช่วยเหลือจากต่างชาติในการให้เข้ามาสัมปทานสำรวจน้ำมัน ต่อมามีการค้นพบพลังงานในเขตไซบีเรียตะวันตก ทำให้โซเวียตส่งน้ำมันไปยุโรปได้มากขึ้น ค.ศ.๑๙๗๐ ส่งได้ ๓๑ ล้านตัน ค.ศ.๑๙๗๕ (๑๔๕ ล้านตัน) และ ค.ศ.๑๙๗๗ (๒๑๐ ล้านตัน)มีการตั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกใน ค.ศ.๑๙๖๐ แต่โซเวียตไม่ได้เข้าร่วม จึงผลิตน้ำมันได้อย่างอิสระ ส่งผลให้ ใน ค.ศ.๑๙๗๕ โซเวียตผลิตน้ำมันได้เป็นเบอร์ ๑ ของโลก แต่ระยะหลังโซเวียตนำเงินที่ขายน้ำมันได้ไปใช้กับการสร้างกองทัพ ใช้ในการทำสงคราม เช่น สงครามอัฟกานิสถาน (ค.ศ.๑๙๗๙-๑๙๘๙) ทำให้เศรษฐกิจแย่ พอราคาน้ำมันตลาดโลกถูก โซเวียตก็มีรายได้น้อยลงมากระหว่าง ค.ศ.๑๙๙๐-๑๙๙๕ ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกลดลงร้อยละ ๔๐ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหภาพโซเวียตบักโกรกและล่มสลาย พอล่มแล้วก็เข้าสู่ยุคการปกครองของประธานาธิบดีเยลต์ซิน เยลต์ซินสั่งให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้บริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยกลุ่มคนชั้นนำทางการเมืองของรัสเซีย ต่อมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น รัสเซียขายน้ำมันได้เงินมากขึ้น แต่เงินดันไปอยู่กับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยูโกสและบริษัทซิบเนฟท์รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก+ครอบครองแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองร้อยละ ๒๘ ของโลก รัสเซียเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก+เจ้าของท่อขนส่งก๊าซที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดินของอดีตสหภาพโซเวียตไปสู่ตะวันตก ยุโรป และสหรัฐฯ โดยมีก๊าซพรอมเป็นบริษัทหลักที่ควบคุมการผลิตและการส่งออกก๊าซธรรมชาติของรัสเซียทั้งหมดตั้งแต่ ค.ศ.๒๐๐๐ เป็นต้นมา สินค้าส่งออกของรัสเซียร้อยละ ๘๐ เป็นทรัพยากรธรรมชาติ เอาเฉพาะแค่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพียง ๒ อย่าง คิดเป็นร้อยละ ๕๕ ของสินค้าส่งออกทั้งหมด รายได้ของรัฐบาลรัสเซียมากกว่าร้อยละ ๔๐ มาจากภาษีน้ำมันจีนกับอินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตที่มีโรงงานมาก ทุกโรงงานต้องใช้พลังงาน รัสเซียมีแหล่งพลังงานสำรองที่ทะเลแคสเปียน รัสเซียทำท่อขนส่งพลังงานจากแคสเปียนไปได้หลายแห่ง เช่น จีน ไปโรงกลั่นน้ำมันในยุโรป และสร้างเส้นทางขนส่งสายใหม่ไปทวีปอเมริกาเหนือสมัยเยลต์ซิน บริษัทหลักในอุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซียมี ๑๓ บริษัท ระหว่าง ค.ศ.๑๙๙๙-๒๐๐๔ เหลือเพียง ๘ บริษัท (มีบริษัทของรัฐเพียงแห่งเดียวคือบริษัทรอสเนฟท์) ระหว่าง ค.ศ.๒๐๐๔-๒๐๐๘ บริษัทหลักที่ควบคุมพลังงานของรัสเซียมี ๕ บริษัท (๒ บริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐคือรอสเนฟท์และก๊าซพรอม อีก ๓ บริษัทมีเอกชนร่วมถือหุ้นด้วยคือลุคออยล์ เซอร์กัตเนฟท์ก๊าซ และกิจการร่วมค้าทีเอ็นเค-บีพี)สหรัฐฯและตะวันตกใช้การแซงก์ชันห้ามซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรัสเซียเป็นเครื่องมือควบคุมโลก แต่รัสเซียไม่กลัว เพราะประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อย่างจีนมีพรมแดนติดกับรัสเซีย แถมมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับรัสเซียด้วยจีนทำให้รัสเซียสามารถใช้แหล่งน้ำมันแห่งใหม่ในไซบีเรียตะวันออก เดิมรัสเซียเคยส่งออกน้ำมันไปจีนและตลาดเอเชียเพียงร้อยละ ๓ ของการส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย พอถึง ค.ศ.๒๐๒๐ ก็เพิ่มเป็นร้อยละ ๓๐ เดิมรัสเซียฝากความหวังไว้กับตลาดยุโรป แต่ตอนนี้รัสเซียเห็นแล้วว่าตลาดยุโรปไม่มีเสถียรภาพ ชอบเอาการเมืองเข้ามายุ่ง รัสเซียจึงมุ่งขายน้ำมันและก๊าซมาให้เอเชียใครจะคบค้าสมาคมกับรัสเซีย ต้องเข้าใจว่ารัสเซียมีรายได้แท้จริงจากไหน จะได้ทำนายทายเศรษฐกิจรัสเซียถูก เรื่องพลังงานของรัสเซียน่าสนใจมากครับ สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อ.นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัยsonglok๑๙๙๗@gmail.comคลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม