Tuesday, 21 May 2024

ทำไม การเลือกตั้งของหมู่เกาะโซโลมอน อาจกระทบทั่วเอเชีย-แปซิฟิก

18 Apr 2024
21

ชาวหมู่เกาะโซโลมอนออกเดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแห่งชาติแล้ว เมื่อวันพุธที่ ๑๗ เม.ย. ๒๕๖๗ ท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลกหมู่เกาะโซโลมอนเพิ่งเปลี่ยนข้าง ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วหันเข้าหาจีนมากขึ้น สร้างความกังวลให้สหรัฐฯ และเพื่อนบ้านอย่าง ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคสำคัญแห่งนี้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงอาจเป็นตัวตัดสินความสัมพันธ์กับหลายประเทศ ในขณะที่ชาวบ้านท้องถิ่นให้ความสนใจกับปัญหาใกล้ตัวและเรื่องปากท้องมากกว่าเมื่อวันพุธที่ ๑๗ เม.ย. ๒๕๖๗ ชาวหมู่เกาะโซโลมอนออกเดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากประเทศของพวกเขาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วหันไปสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่แทนสำหรับชาวหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งมีจำนวนกว่า ๗๐๐,๐๐๐ คน การเลือกตั้งครั้งนี้คือโอกาสที่พวกเขาจะได้เลือกคณะบริหารชุดถัดไปเข้ามาบริหาร เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เนื่องจากประชากรราว ๘๐% ของประเทศที่อาศัยอยู่นอกกรุงโฮนีอารา ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานอย่าง ไฟฟ้า, การแพทย์, โรงเรียน และการขนส่งได้แต่สำหรับหมู่เกาะโซโลมอน การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นตัวตัดสินความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับจีน และสหรัฐฯ กับพันธมิตรอย่างออสเตรเลีย ซึ่งกำลังแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคสำคัญแห่งนี้ ทำไมการเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญ?นี่เป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกของหมู่เกาะโซโลมอน นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี มานาสเซห์ โซกาวาเร ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายทางการทูตของประเทศทันทีที่รับตำแหน่งในปี ๒๕๖๒ โดยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน แล้วหันไปสนับสนุนนโยบายจีนเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่ด็อกเตอร์เมก คีน ผู้อำนวยการโครงการหมู่เกาะแปซิฟิก จากคณะวิจัย ‘Lowy Institute’ ในออสเตรเลีย วิเคราะห์ว่า เหตุผลที่โลกจับตาการเลือกตั้งของหมู่เกาะโซโลมอน เป็นเพราะการย้ายฝั่งเข้าหาจีน และนโยบาย ‘มุ่งขึ้นเหนือ’ (Look North) ของนายกรัฐมนตรี โซกาวาเร ซึ่งจะเปิดประตูต้องรับจีน และเพิ่มการเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคมากขึ้นหมู่เกาะโซโลมอนตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทะเลสายสำคัญหลายสายระหว่างสหรัฐฯ กับออสเตรเลีย ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญมาก หากความขัดแย้งปะทุขึ้นในทะเลจีนใต้ออสเตรเลียพยายามรักษาความสัมพันธ์กับหมู่เกาะโซโลมอนในฐานะหุ้นส่วนด้านการพัฒนาและความมั่นคงมาตลอด ขณะที่จีนต้องการการสนับสนุนนโยบายจีนเดียวของจากหมู่เกาะโซโลมอน และต้องการเปิดประตูเข้าสู่ทรัพย์สินและทรัพยากรล้ำค่าอย่าง การประมง และเหมืองแร่ในภูมิภาคนี้ส่วนสหรัฐฯ ก็พยายามเข้าหาหมู่เกาะโซโลมอนอีกครั้ง ตั้งแต่เข้ามาลงทุนโครงการพัฒนาต่างๆ ไปจนถึงการตั้งสถานทูตของพวกเขาในกรุงโฮนีอาราสถานการณ์นี้ทำให้หมู่เกาะโซโลมอนตกที่นั่งลำบาก ด็อกเตอร์คีน กล่าว “โซโลมอนกำลังพยายามรักษาสมดุลของโอกาสที่หลากหลาย กับคำมั่นสัญญาเรื่องการปกครองระบบประชาธิปไตย, การเปิดกว้าง, เสรีภาพสื่อ และ องค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญต่อประชาชนของพวกเขา”การเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจถูกมองเป็นการลงคะแนนเสียงประชามติ ว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี โซกาวาเร หรือไม่ นายกรัฐมนตรี มานาสเซห์ โซกาวาเรผู้สมัครเลือกตั้งมีใครบ้าง?คนแรกแน่นอนว่าคือ นายโซกาวาเร ซึ่งลงสมัครในฐานะหัวหน้าพรรค ‘ความรับผิดชอบ, ความสามัคคี และความเป็นเจ้าของ’ (Ownership, Unity and Responsibility Party) และเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง ๔ สมัยดร.เทส นิวตัน เคน จากสถาบัน ‘กริฟฟิธ เอเชีย’ (Griffith Asia Institute) ระบุว่า นายโซกาวาเรเป็นตัวละครทางการเมืองที่ถูกสร้างมาอย่างดี เขาเพิ่งดำรงตำแหน่งสมัยที่ ๔ เสร็จสิ้น และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศโซกาวาเรลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงลับกับจีนไปเมื่อ ๒ ปีก่อน สร้างความตกตะลึงแก่สหรัฐฯ และออสเตรเลียอย่างมาก และยิ่งทำให้ความไม่สบายใจเรื่องการขยายอิทธิพลของจีนในแปซิฟิกรุนแรงขึ้นไปอีก แต่เขาปฏิเสธข่าวลือที่ว่า จะอนุญาตให้จีนมาตั้งฐานทัพในประเทศของเขาประชาชนบางกลุ่มพอใจในผลงานของเขา ทั้งการตกลงเพิ่มความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงกับจีนเมื่อปีก่อน และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ‘แปซิฟิก เกม’ ขณะที่บางส่วนก็ไม่พอใจ โดยกล่าวหารัฐบาลของโซกาวาเรว่า ไม่ได้ลงมือทำมากพอในการช่วยเหลือพวกเขาต่อสู้กับค่าครองชีพที่พุ่งสูงผู้ที่ขวางทางนายโซกาวาเรจากการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๕ คือ นายปีเตอร์ เคนโลเรอา จูเนียร์ ผู้แทนจากพรรคฝ่ายค้าน ‘United Party’ และอดีตเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ ผู้ประกาศกร้าวว่า จะยกเลิกข้อตกลงความมั่นคงกับจีน และหวังจะสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับชาติตะวันตกมากขึ้นส่วนผู้นำฝ่ายค้านอย่าง นายแมทธิว เวล จากพรรคประชาธิปไตยหมู่เกาะโซโลมอน (Solomon Islands Democratic Party) จับมือกับกลุ่มฝ่ายอื่นๆ ตั้งพรรคพันธมิตรประชาธิปไตย (Democratic Alliance Party) ขึ้นมาก โดยสัญญาว่า หากชนะเลือกตั้งจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาและการแพทย์ รวมถึงพัฒนานโยบายต่างประเทศ มุ่งเน้นประโยชน์ของชาติเป็นหลักดร.คีน ระบุว่า ผู้สมัครกลุ่มอื่นๆ เหล่านี้ กำลังรู้สึกว่าพวกเขาควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องปัญหาด้านการพัฒนา และการเข้าถึงบริการ มากกว่าปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และพวกเขากังวลว่า ความสัมพันธ์กับจีนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จะส่งผลต่อความโปร่งใสของรัฐบาล และเกิดปัญหาเกี่ยวกับอธิปไตยได้ สถานทูตจีนในกรุงโฮนีอาราหวั่นเกิดความรุนแรงหลังเลือกตั้งการเลือกตั้งของหมู่เกาะโซโลมอนถูกมองว่าเป็นการลงคะแนนเสียงที่มีความท้าทายมากที่สุดในโลก โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว ๔๒๐,๐๐๐ คน ต้องเดินทางไปใช้สิทธิ์ที่หน่วยเลือกตั้ง ๑,๒๐๐ แห่ง ที่กระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ กว่า ๙๐๐ เกาะทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. วันที่ ๑๗ เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อเลือกคณะบริหารชุดใหม่ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติชุดใหม่ ๕๐ คน จะเป็นผู้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่กระบวนการนี้อาจกินเวลานานหลายสัปดาห์อย่างไรก็ตาม มีรายงานเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างกว้างขวาง แคนดิเดตนักการเมืองพยายามติดสินบนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งแจกเงิน จนถึงกระสอบข้าวและแผงโซลาร์เซลล์ จนคณะกรรมการการเลือกตั้งของหมู่เกาะโซโลมอน ต้องออกมาเรียกร้องให้ประชาชน อย่าบอกคนอื่นว่าตัวเองลงคะแนนให้ใคร และหลีกเลี่ยงจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงขณะเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งกังวลว่า อาจเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นระหว่างกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยนโยบายเข้าหาจีนของนายโซกาวาเร เคยทำให้เกิดการจลาจลต่อต้านรัฐบาลมาแล้ว และเกิดเหตุความรุนแรงที่เขตไชน่าทาวน์ ในกรุงโฮนีอารา ในปี ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๔“ในขณะที่กระบวนการดำเนินไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล และประกาศชื่อนายกรัฐมนตรี เราเคยเห็นมาก่อนแล้วว่ามีความรุนแรงปะทุขึ้น และนั่นคือปัญหาน่ากังวลสำหรับเจ้าหน้าที่และพันธมิตรของโซโลมอน” ด็อกเตอร์นิวตัน เคนกล่าวเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กชั่วคราวไปตั้งไว้รอบสถานทูตจีน ขณะที่ตำรวจท้องถิ่นก็กำลังรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่จากออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี การเลือกตั้งชี้ชะตาประเทศหากนายโซกาวาเรชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ก็อาจมองได้ว่า ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายของเขาในการกระชับความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่หมู่เกาะโซโลมอนแล้วหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น การสร้างท่าเรือ, ถนน และเครือข่ายโทรคมนาคม“เขา (โซกาวาเร) มองมันเป็นการพาหมู่เกาะโซโลมอนออกสู่แผนที่โลก เขามองว่ามันคือการยืนอยู่ถูกฝั่งในประวัติศาสตร์ และอาจถูกฝั่งทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เขาเคยพูดไว้ว่า เขาอยากรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเก่าแก่อย่างออสเตรเลีย และอาจรวมถึงสหรัฐฯ ด้วย” ด็อกเตอร์นิวตัน เคน กล่าวแต่หาผู้นำเปลี่ยนมือไปเป็น นายแมทธิว เวล หรือ ปีเตอร์ เคนิโลเรอา จูเนียร์ ด็อกเตอร์นิวตัน เคน คาดว่า เราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ จุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศของพวกเขาต่างจากโซกาวาเรา อาจเอียงเข้าหาชาติตะวันตกมากขึ้น และหาทางผูกมิตรกับออสเตรเลียและสหรัฐฯ ต่อไปแต่สำหรับชาวโซโลมอน อาจมีเพียงชนชั้นกลางในกรุงโฮนีอารา และบางส่วนในเมืองมาไลตาเท่านั้น ที่โหวตโดยให้ความสำคัญเรื่องปัญหาระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้โหวตส่วนใหญ่ กำลังเผชิญปัญหาและความต้องการอย่างปัจจุบันทันด่วน จึงมักลงคะแนนให้ผู้สมัครที่เชื่อว่า สามารถช่วยเหลือพวกเขา, ครอบครัว หรือสังคมของพวกเขาได้ ด้วยความช่วยเหลือทางกายภาพโดยตรงผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรีที่มา : cna , bbc